กลับมาอีกแล้วกับงาน(เดฟปวดหัว)ประจำปี กับงาน World Wide Developer Conference 2021 ซึ่งปีนี้ทาง Apple ก็ได้มาในรูปแบบ ที่สนับสนุนมาตรการ Social Distance อีกเป็นปีที่สอง ที่งานจะมีการจัดภายใต้รูปแบบการเข้าร่วมออนไลน์ ซึ่งจะมีวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญของ Apple ได้มาร่วมจัดเซสชั่น (Session) และพาร์วิเลียน (Pavilion) ยิบย่อยที่จะมีการเดโม API ใหม่ๆ ที่ได้มีการพัฒนาขึ้นสำหรับระบบปฏิบัติการใหม่

และเช่นกันที่ปีนี้ทาง Apple ก็จะทำการเปิดงานด้วย Keynote ที่จะมีการเปิดตัวระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่อย่าง macOS 12, iOS 15, iPadOS 15, watchOS 8, tvOS 15 และอาจถึงฤกษ์ในการเปิดตัวสินค้าใหม่ของทาง Apple อีกด้วย วันนี้เราก็จะมาสรุปกันให้ดูครับว่าจะมีอะไรใหม่ ที่มีการเปลี่ยนแปลงจริงๆ กันบ้าง

วันเวลาสำหรับ Keynote เปิดตัว WWDC 2021

โดยในปีนี้ก็จะมีการเริ่มงานในวันที่ 8 มิถุนายน 2564 เวลาเที่ยงคืน (คืนของวันจันทร์ที่ 7) เวลาประเทศไทย ซึ่งงานจะมีความยาวประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ซึ่งเป็นมาตรฐานของ Keynote ของ Apple อยู่แล้ว

วิธีการรับชม WWDC 2021

นอกจากเพื่อนๆ จะสามารถรับชมได้ผ่านเว็บไซต์ Apple แล้ว (จำเป็นต้องใช้ Safari หรือ Microsoft Edge) แล้วก็ยังมีให้รับชมผ่าน YouTube อีกด้วย ดังนั้นเพื่อนๆ ก็สามารถเปิดไลฟ์สตรีมจากอุปกรณ์ไหนก็ได้ รวมถึง TV จอใหญ่ของเพื่อนๆ ครับ (แนะนำมากๆ)

หรือเพื่อนๆ อาจจะรับชมผ่านแอพ Apple Developer ที่อยู่บน App Store หรือเว็บไซต์ของนักพัฒนา developer.apple.com เพื่อดูเซสชั่นอื่นๆ นอกเหนือจาก Keynote ได้อีกด้วยครับ

และจะมีการสรุปไฮไลท์ Session รายวันว่าอะไรที่น่าสนใจบ้างผ่าน YouTube ของ Apple อีกด้วยครับ

มีม Craig Federighi

ถือว่าเป็นไอคอนประจำปีอย่าง Craig Federighi ที่ต้องมีท่าทางที่ดูขบขันเพื่อทำการเปลี่ยนซีนไปเป็อีกบริการหนึ่ง ซึ่งคุณ Federighi เองก็มีการ ‘Set the Mood’ เพื่อเปิดตัว Always on บนอุปกรณ์ MacBook M1 ให้คนบนโลกอินเตอร์เน็ตและ Twitter ตัดมาเป็นไฮไลต์ของงานแทนสินค้าอื่นที่เปิดตัวในงานมาแล้ว ซึ่งก็ได้กลายมาเป็นธีมเปิดตัวหลักในปี 2020 ไปโดยปริยาย

ซึ่งตำแหน่งของคุณ Federghi เองเป็น Senior VP ของ Software Development ซึ่งก็จะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบปฏิบัติการอยู่แล้ว ทำให้เราไม่แปลกใจเลยว่างาน WWDC นั้นเราจะเจอหน้าเขาเต็มตลอดทั้ง 1 ชั่วโมงครึ่ง

มีมเปิดหน้าจอของ Craig Federighi | ภาพจาก WWDC 2020, Apple

การเปลี่ยนแปลง iMessage – FaceTime อีกครั้ง

หนึ่งในบริการที่ทาง Apple มีการอัพเดทมากที่สุด หรือที่เรียกว่ามีการอัพเดทเกือบทุกปีเลยก็ว่าได้นั่นก็คือ iMessage ที่ในปีนี้อาจจะมีการเปลี่ยนในรูปแบบของการทำงานร่วมกันกับผู้ใช้งานอื่นโดยสะดวกมากขึ้น คล้ายคลึงกับการใช้ Slack หรือ Zoom รวมกันก็เป็นได้ รวมไปถึงฟีเจอร์การใช้งานที่อาจจะเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเขียนข้อความหรือการนำข้อความต่างๆ ไปใช้งานในจุดอื่น

Siri ที่ทำงานเร็วขึ้น

นอกจาก iPhone และ iPad รุ่นใหม่ๆ ที่มี Neuron Network Chip ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำ Machine Learning โดยในอดีตก็มีการใช้เพื่อให้สามารถแอพฯ ประมวลผล Machine Learning บนเครื่องได้ และในปีที่แล้วก็ได้มีการเปิดตัวชิพ M1 สำหรับ Mac ที่มีชิพประมวลผลย่อยๆ ซึ่งเหมือน iPhone และ iPad มากๆ จำนวนมากอีกด้วย ทำให้ผมเองก็ไม่สามารถที่จะแยกได้แล้วระหว่าง iPhone, iPad และ Mac ซึ่งหนึ่งในฟีเจอร์ที่มีอยู่แล้วนั่นก็คือการเรียก ‘Hey Siri’ ที่จะมีการประมวลผลการเรียกใช้งานบนเครื่อง แต่ Siri ก็ยังจำเป็นจะต้องค้นหาข้อมูลบนโลกอินเตอร์เน็ตเพื่อหาคำตอบและเรียงประโยคคำสั่งของผู้ใช้งาน

ซึ่งผมเองมองว่า Apple ยังสามารถใช้งานชิปพวกนี้เพื่อให้ Siri ทำงานทั่วไปอย่างเช่นการสั่งให้เปิดไฟหรือคำนวณโจทย์เลข บนเครื่องได้โดยไม่ต้องติดต่อกับศูนย์ช้อมูลหรือประมวลผลเลย เป็น Assistance ที่สามารถทำงานได้แบบ On-device ที่สามารถทำงานทั่วไปได้เร็วขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และเป็นการลดการส่งข้อมูลไปให้ Apple ประมวลผลอีกด้วย ทั้งปลอดภัยมากขึ้นและก็เร็วขึ้นอีกด้วย

หน้าตาของ Siri | ภาพจาก Apple

iOS 15

ปรับเปลี่ยน UI เล็กน้อย

ก่อนการเปิดตัวหนึ่งวัน (วันที่ 6 มิถุนายน) ทาง Apple ได้ทำการเปิดตัวบริการที่ทำให้ผู้ใช้งานที่มีความบกพร่องทางร่างกายอย่างเช่นหูหนวกสามารถติดต่อพนักงานสโตร์ Apple (หรือที่เรียกบ่อยๆ ว่า Genius) ที่มีการสื่อสารผ่านภาษามือได้ พร้อมทั้งการปรับเปลี่ยนและเพิ่มฟีเจอร์การใช้งานสำหรับผู้มีความบกพร่องแบบต่างๆ

แต่ทาง 9to5Mac ก็ได้ทำการสังเกตและพบว่า iOS 15 (เวอร์ชันที่จะมีการใช้งานฟีเจอร์ข้างต้นเป็นเวอร์ชันแรก) นั้นมีหน้าตา Settings ที่แตกต่างไปจากปกติ โดยก่อนหน้านี้กลุ่มของคำสั่งจะมีเพียงชื่อกลุ่มมาแบ่งออก แต่ในที่นี้เป็นการใช้ Cards ที่เราจะเห็นได้จากดีไซน์ iPadOS 14 ซึ่งใช้การเป็นกลุ่มก้อนกันและมีขอบอย่างชัดเจน ไม่ใช่แถบแบบเต็มหน้าจอ โดยการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยนี้ก็อาจจะมีความเป็นไปได้ที่หลักการดีไซน์ของ iPhone จะเปลี่ยนไปนิดหน่อย และเราคงเห็นแอพ iPhone ของทาง Apple ไปในทิศทางนี้ทั้งหมดใน iOS 15

macOS 12

นับใหม่เป็น macOS 12

ในอดีต ระบบปฏิบัติการ OSX (หรือ macOS ในปัจจุบัน) นั้นจะถูกนับเพิ่มเป็นเวอร์ชันย่อย เช่น OSX 10.11 El Capitan แต่ก็ไ้ด้มีการเปลี่ยนมานับเป็น 11 สำหรับ Big Sur เมื่อช่วงเวลาเปลี่ยนแปลง macOS ใหม่ก็มาพร้อมกับการเริ่มระยะเวลา Transition มาเป็น Apple Silicon 100% โดยในปีนี้ก็ถือว่าเป็นปีแรก และเหลืออีกหนึ่งปีที่ทาง Apple จะทำการโอนถ่ายอย่างสำเร็จ

จากการเปลี่ยนมานับเป็น 11 นั้นก็อาจจะเป็นตัวจุดประเด็นการนับต่อเป็น 12 ก็เป็นได้ เพราะทาง Apple ก็ได้ทำการอัพเดทระบบปฏิบัติการ 11.4 มาเมื่อไม่นานมานี้ โดยข้อสังเกตอยู่ที่เวอร์ชันย่อย .4 ที่ไม่มีการนับ .0.4 หรือ .1.4 เหมือนยุค OSX อีกต่อไป

อ้างอิงจากข้อมูลชื่อทางการค้า โดยทาง 9to5Mac นั้นได้ออกมาพูดถึงว่ามีการจดชื่อทางการค้าเพิ่มเติมจากเดิม ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นชื่อ Mammoth หรือ Montery ซึ่งก็เป็นชื่อภูเขา-พื้นที่ภูเขาในแคลิฟอร์เนียเหมือนกันอาจจะมาเป็นชื่อระบบปฏิบัติการ macOS 12 ร่วมกับชื่อภูเขา Mavericks, Yosemite, El Capitan, Sierra, High Sierra, Mojave, Catalina, และ Big Sur

รองรับการทำงานร่วมกันกับ iPadOS

จากการออกแบบ iPadOS ให้เป็นเหมือนเพื่อนร่วมงาน Macbook มากกว่าคู่แข่งนั้นก็อาจจะทำให้ผมเองไม่สามารถจะหยุดคิดได้เลยว่าจะมีฟีเจอร์อะไรที่ iPad – Mac สามารถทำอะไรร่วมกันได้บ้าง การเปิดตัวครั้งแรกของฟีเจอร์ในกลุ่มนี้นั่นก็คือการต่อหน้าจอ ทำให้ iPad สามารถแตะใช้งานและวาดภาพได้ตามปกติ เหมือนเป็นหน้าจอแยก (หรือเป็น Mirror ก็ได้ตามการใช้งานของผู้ใช้งาน)

รวมไปถึงฟีเจอร์อย่าง Universal Clipboard ที่ผู้ใช้งานสามารถกด Cut/Copy และสามารถกด Paste ได้จากอุปกรณ์อีกเครื่องหนึ่งที่ใช้บัญชีผู้ใช้งาน iCloud เดียวกัน แม้ว่าฟีเจอร์นี้อาจจะไม่ได้อัพเดทรวดเร็วขนาดนั้นก็ตาม แต่ก็เพียงพอมากสำหรับการใช้งานนานๆ ครั้ง

ซึ่งผมเองยังหวังว่าเราจะเห็นการทำงานเพิ่มเติม อย่างการต่อหน้าจอหรือทำงานต่อบน iPad – Mac ได้ดีขึ้นอีกในอนาคต

เปิดตัวอุปกรณ์ Mac อันใหม่

ข่าวลือจำนวนมากเกิดขึ้นไปเกี่ยวข้องกับชิพประมวลผลเวอร์ชันใหม่ M2 หรือ M1X ที่จะมาพร้อมกับอุปกรณ์ Mac รุ่นปี 2021 และมาพร้อมกับพอร์ทที่ถูกดึงออกในรุ่นปี 2016 อย่าง SD Card และ USB-A และประสิทธิภาพการประมวลผลที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว

โดยส่วนตัวแล้วผมมองว่าทาง Apple นั้นจะไม่เปิดตัวเครื่องคอมพิวเตอร์หรือโน๊ตบุ้คตัวเรือธงประมาณกลางเดือน เพราะเวอร์ชันเก่า (อย่างเช่น MacBook รุ่นปี 2020) เองก็ใช้ดีไซน์แบบรุ่นปี 2016 ซึ่งก็ถือว่าเป็นเวลา 4 ปีกว่าแล้วที่ Apple ไม่ได้ทำการอัพเดทดีไซน์ ทั้งเรื่องของแบตเตอรี่ที่อาจจะอัดพื้นที่ได้เยอะขึ้น หรือเรื่องการนำพัดลมออกเพื่อตัวเครื่องที่เบากว่าสำหรับ MacBook Air

หากว่าจะมีการอัพเดทนั้น ผมคิดว่า Apple อาจจะมีการอัพเดทไลน์อัพ MacBook ที่มาพร้อมกับชิพเวอร์ชันใหม่ อย่างน้อยที่สุดในไตรมาส 3 หรือประมาณเปิดเทอมของสหรัฐฯ เสียมากกว่า ไม่ใช่ในงาน WWDC 2021 ที่กำลังจะถึงอีกไม่นานนี้

iPadOS 15

เพิ่มฟังก์ชันการทำงานให้เหมือน macOS มากขึ้น

จากข่าวการเปิดตัว M1 ในปีที่ผ่านมา และการเปิดตัว M1 บน iPad Pro ที่พกพลังการคำนวณเทียบเท่ากับ MacBook มาให้อยู่บนแท็บเล็ตอย่าง iPad Pro นั้นถือว่าเรียกกระแสฮือฮาอย่างมาก เพราะจะทำให้ iPad Pro นั้นเป็นเหมือน Hybrid Notebook – Tablet เหมือน Microsoft Surface ที่เปิดตัวออกมาก่อน iPad Pro รุ่นชิพ M1 มานานกว่าหลายปี

ในปีนี้เราอาจจะเห็นแอพฯ ที่สามารถดึงประสิทธิภาพของ M1 มาได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น เพื่อให้สามารถเทียบเคียงในหน้าที่ในการทำงาน เช่นการตัดต่อระดับสูง Final Cut Pro หรือการตัดต่อรูปอย่าง Adobe Photoshop, Adobe Lighroom, Affinity Photo ให้สามารถทำงานได้บน iPad ชิพ M1

และก็รวมไปถึงการรองรับการทำงานแบบ Multitasking ให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจุบันผู้ใช้ยังมีปัญหาในการใช้แอพแบ่งหน้าจอกัน (เช่น ซีกซ้ายเป็น Safari และซีกขวาเป็น Notes) ที่ตอนนี้ผู้เล่นจะต้องเปิด-ปิดแอพบ่อยครั้งและกว่าจะสามารถแบ่งได้ตามต้องการก็อาจจะเสียเวลามากเลยทีเดียวครับ โดยผมเองหวังว่าทาง Apple จะนำขุมพลังการคำนวณที่อยู่ในชิพ M1 มาช่วยให้การทำงานแบบ Multitasking นั้นลื่นไหลกว่าเดิม

ความชัดเจนในหน้าที่ของ AirTag

การเปิดตัว AirTags ใน Keynote เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยหลังจากการขายในช่วงแรกเราก็จะเห็นคนนำไปรีวิวทั้งการใช้งานแบบปกติ อย่างการเอาไปใช้ร่วมกับอุปกรณ์ที่มีชิพ U1 ที่เป็นชิพอัลตราไวด์แบนด์ (Ultra Wideband Chip) อย่าง iPhone และ iPad รุ่นใหม่ แต่เช่นกันก็จะมีคนนำไปใช้งานอย่างผิดประเภท

ตัวอย่างการใช้งานผิดประเภทก็อย่างเช่นการนำ AirTag ไปใส่กับกระเป๋าหรือรถของผู้อื่น เพื่อให้ใช้ติดตามตัว แม้ว่าทาง Apple จะมีมาตรการในการป้องกันอย่างการแจ้งเตือนผู้ใช้งานอื่นที่มี AirTag ติดตามของผู้อื่นติดตามผู้ใช้ ‘อย่างต่อเนื่อง’ แต่ก็อาจจะไม่เพียงพอที่จะให้การใช้งาน AirTag เพราะเงื่อนไข ‘อย่างต่อเนื่อง’ นั้นก็ยังสามารถใช้เพื่อติดตามตัวได้นานประมาณหนึ่ง

หรือวิดีโอของผูัใช้งาน YouTuber อย่างการส่ง AirTag ไปให้สถานทูตในเกาหลีใต้ หรือส่งไปให้ CEO อย่าง Tim Cook และ Elon Musk ก็อาจจะเป็นการตั้งคำถามให้กับทาง Apple ว่าต้องการใช้ AirTag ในลักษณะไหนกันแน่ เพราะนี่เองก็เป็นครั้งแรกของทาง Apple เหมือนกันที่มีการเปิดตัวสินค้าติดตามตัว เราคงจะเห็นการแก้ไขในซอฟท์แวร์ของ AirTag อีกหลายๆ ครั้งของ Apple เพื่อจะทำให้สินค้านี้ปลอดภัยและสามารถใช้งานได้จริงเหมือนสินค้าอิ่นๆ ของ Apple

Apple Music รองรับ Dolby Atmos และ Lossless Format

ก่อนงาน WWDC ไม่กี่วัน ก็ได้มีการเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่บน Apple Music อย่างการรองรับ Dolby Atmos และ Lossless Audio ที่จะทำให้ผู้ใช้งานที่สมัครบริการของ Apple Music สามารถใช้งานประสบการณ์แบบพรีเมียมได้ฟรี โดยไม่ต้องเพิ่มแพ็กเกจหรือเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเลย

โดยก่อนหน้านั้นก็มีข่าวของทาง Spotify ที่จะมีการเปิดตัวแพ็กเกจ Lossless ที่จะทำให้ผู้ฟังสามารถฟังเพลงได้คุณภาพสูงสุด เหมือนการซื้อแผ่นเพลงเลยทีเดียว แต่นอกจาก Lossless ที่ Apple Music เองก็ได้เปิดตัวแล้ว ก็ยังมี Dolby Atmos อีกด้วยครับ

Dolby Atmos เป็นระบบการทำเสียงรอบทิศทาง (Surround) เหมือนในโรงหนัง ที่จะมีเสียงรอบด้าน ทั้งด้านหน้า ด้านข้างและด้านบน โดยการใช้หูฟังที่รองรับ (ซึ่ง AirPods เองก็รองรับทั้งรุ่นธรรมดาและรุ่นโปร)

อัพเดท Animoji อีกครั้ง

ซึ่งครั้งนี้ก็อาจจะมีการเพิ่มดีไซน์ ทั้งรูปแบบหน้าและของตกแต่งหน้าที่อาจจะมีการเพิ่มเติมขึ้นมา ซึ่งเราก็ไม่สามารถที่จะบอกได้เหมือนกันครับว่าในปีนี้จะมีการเพิ่มสไตล์อะไรเพิ่มขึ้นมาบ้าง แต่ผมเองก็คาดหวังว่าทาง Apple จะมีการเพิ่มสไตล์สำหรับผู้ป่วยโรคต่างๆ ที่อาจจะต้องใช้อุปกรณ์ติดหัวต่างๆ มาให้ผู้ใช้งานนำไปแปะ Animoji ของตัวเองก็เป็นได้ครับ

ผู้บริหารเองก็มี Animoji เหมือนกันนะ

นอกจากธีมของงานที่เป็น Animoji มองไปที่หน้าจอแล้วยิ้ม ก็มีผู้บริหาร ที่นำด้วย Tim Cook ได้ทำการเปลี่ยนภาพโปรไฟล์ Twitter ของตนเองให้เข้าธีมกับงาน WWDC ก่อนงานจะเปิดแล้วครับ


ข้อมูลอ้างอิง
สนับสนุนโดย

Share this post

About the author