เพื่อนๆ อาจจะเคยเห็นชื่อแอพอย่าง Telegram มาไม่มากก็น้อย ทั้งการนำไปใช้งานในการประท้วงในประเทศฮ่องกงหรือประเทศไทย รวมไปถึงว่าแอพคู่แข่งอย่าง Line, WhatsApp หรือ Facebook Messenger นั้นก็ยังไม่สามารถตอบสนองได้ในเรื่องของความเร็วในการส่งข้อความ ความเป็นส่วนตัวว่าจะไม่อ่านแชทของเรา หรือกระทั่งการแสดงโฆษณาในทุกๆ ระเบียบนิ้ว วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกันครับ ว่า Telegram คืออะไร และทำไมถึงเป็นตัวเลือกแรก ๆ ของแอพแชททางเลือก
อ่านต่อ สำหรับใครที่สนใจที่จะใช้ Telegram เป็นภาษาไทยก็สามารถรู้วิธีได้จากสตอรี : วิธีเปลี่ยนภาษาใน Telegram ให้เป็นภาษาไทย
Telegram คืออะไร?
Telegram คือแอพลิเคชันแชทที่เน้นในเรื่องของความเป็นส่วนตัวและต้องการให้ผู้ใช้งานเป็นเจ้าของข้อมูลอย่างแท้จริง โดยมีการใช้งานอย่างแพร่หลายในประเทศอย่างเยอรมัน รัสเซีย อินโดนิเซีย ฮ่องกง และในประเทศไทย
โดยในปัจจุบันแอพ Telegram เป็นแอพที่ออกแบบมาเพื่อความเป็นส่วนตัวสูงสุด รองรับอุปกรณ์หลายเครื่อง (ซึ่งตอนนี้รองรับ Android, iOS, Web, Windows, macOS และ Linux) และออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานได้อย่างรวดเร็ว พร้อมกับกลุ่มแชทที่มีผู้ใช้งานได้สูงสุดถึง 200,000 ผู้ใช้ และแชนแนลเพื่อการกระจายข่าวสารได้ไม่จำกัด อีกทั้งแชทนั้นจะไม่มีทางหายไปอย่างแน่นอนเพราะมีการจัดเก็บแชทแบบ Cloud-based และมีการเข้ารหัสอย่างแน่นหนาด้วยโปรโตคอลที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นพิเศษ
Telegram เป็นบริการฟรี ไม่มีโฆษณารบกวนใจ และไม่ขายข้อมูลให้กับใคร
อีกทั้งแอพฯ มีฟีเจอร์อีกมากมายที่จะทำให้แอพดูเป็นส่วนตัวมากขึ้น ตัวอย่างเช่นสติกเกอร์ที่สามารถดาวน์โหลดมาใช้งานได้ฟรี ทั้งแบบปกติ แบบดุ๊กดิ้ก (Animated Stickers) และรองรับการใช้ Emoji มาเป็นสติกเกอร์อีกด้วย พร้อมทั้งฟีเจอร์อย่างการเปลี่ยนธีมแอพให้เหมาะสำหรับคุณ ซึ่งก็สามารถไปหาโหลดได้เช่นกัน
ความเป็นส่วนตัวเป็นที่หนึ่ง
ในประเทศไทยเองนั้นก็เริ่มมีการใช้งานแพร่หลายพร้อมกับหลายประเทศทั่วโลกที่ได้ข่าวถึงแอพคู่แข่งอย่าง WhatsApp ที่มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวเพิ่มเติมแก่ Facebook และปัญหาของ Signal ที่ไม่สามารถรองรับการสมัครใช้งาน-ใช้งานได้
และปัญหาการใช้งานของหลายๆ แอพที่ปัจจุบันนั้นช้าและทำงานได้เพียงบนอุปกรณ์เดียวอย่าง Line ทำให้ Telegram นั้นอยู่ในตัวเลือกของหลาย ๆ คน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความเร็วในการแชทและการจัดการแชทที่เป็นระบบ
อีกทั้งการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล-เจ้าหน้าที่ ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐปิดกั้นการสื่อสารในหลายๆ ประเทศ ทำให้ Telegram ได้รับความสนใจอีกครั้งในด้านประสิทธิภาพในการออกแบบที่ทำให้ประเทศอย่างรัสเซียและอีกหลายประเทศไม่สามารถแบนแอพได้สำเร็จ
ประวัติของ Telegram
เปิดตัวในปี 2013 โดยผู้ก่อตั้งชาวรัสเซีย Pavel Durov และ Nikolai Durov โดยก่อนหน้านี้ทั้งสองผู้ก่อตั้งก็ได้เปิดตัวเว็บไซต์โซเชีลอันดับหนึ่งในประเทศรัสเซียอย่าง VK.com และครั้งนี้กับ Telegram ด้วยมุมมองทางด้านความเป็นส่วนตัว
และหลังจากการเปิดตัว ในวันนี้ในหลายประเทศได้ทำการแบน Telegram เนื่องจาก “เป็นแอพที่ถูกใช้ในการวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลฯ” ดังนี้
- อาเซอร์ไบจาน (ปลดแบนแล้วเมื่อ 10 พฤษจิกายน 2020)
- บาห์เรน
- เบลารุส
- สาธารณรัฐประชาชนจีน
- อิหร่าน
- ปากีสถาน
- และในประเทศฮ่องกงและประเทศไทยที่มีข่าวลือว่าต้องการแบน เพียงว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารของกลุ่มผู้ประท้วงและวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลจีนและไทย
และประเทศที่แบนด้วยเหตุผล “รัฐบาลไม่สามารถควบคุมแชทที่ไม่เหมาะสมได้ จากการที่ Telegram ไม่มีเจ้าหน้าที่ในการจัดการข้อความที่มีลักษณะผิดกฎหมาย”
- อินเดีย
- อินโดนีเซีย (ปลดแบนแล้วเมื่อเดือนสิงหาคม 2017)
- รัสเซีย (ปลดแบนแล้วเมื่อ 18 มิถุนายน 2018)
ข้อมูลจาก Wikipedia และ Freshers Live
Telegram แบนไม่ได้ (จริงหรือเปล่านะ)
แม้ว่าในหลายประเทศนั้นจะมีความต้องการแบน Telegram จากอินเตอร์เน็ต แต่ในประเทศอย่างรัสเซียที่ไม่สามารถต่อกรกับการแบนได้ เพราะฟีเจอร์ในการป้องกันแบนของ Telegram ที่ใช้คนทั่วโลกเป็น “ตัวประกัน”
เพราะการแบนนั้นจำเป็นที่จะต้องแบนผ่านเลข IP ของเซิฟเวอร์ Telegram แต่การที่ Telegram ใช้เลข IP ที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ (ผ่านการใช้บริการคลาวด์เซอร์วิสอย่าง Amazon AWS และ Google Cloud) ทำให้การแบนเลขหมาย IP นั้นไปกระทบการทำงานของภาครัฐและเอกชนที่จำเป็นต้องติดต่อกับคนภายนอกประเทศ ทำให้วันนี้ทางรัฐบาลของรัสเซียจำยอมต้องเปลี่ยนแผนและยกเลิกการแบนในที่สุด
อนาคตของ Telegram
สำหรับ Telegram แล้ว หนึ่งในหัวข้อที่ได้รับข้อสงสัยมากที่สุดนั่นคือการทำให้แอพอยู่ได้ด้วยตนเอง (หรือ Sustainable) ซึ่งนั่นหมายความว่า Telegram ต้องหาวิธีในการสร้างรายได้จากแอพ ไม่ว่าวิธีใดก็วิธีหนึ่ง
ในการสัมภาษณ์กับทางสื่อออนไลน์อย่าง Wired ทางผู้ก่อตั้ง Pavel ก็ได้มีการการพูดถึงการเติบโตของแอพ ซึ่งไม่น่าเชื่อเลยว่าแอพมีผู้ใช้งานมากขึ้นจากเพียงการแนะนำอย่างเดียวเท่านั้น
“Our growth relies solely on our users suggesting to their friends to download and use Telegram. Every day 350,000 users sign-up for Telegram, without any effort on our part” — Pavel Durov ในการสัมภาษณ์กับสำนักข่าว Wired
การเติบโตแบบ Organic (การเติบโตโดยไม่มีการกระตุ้น) นั้นแสดงให้เห็นถึงการที่แอพนั้นมีประสิทธิภาพดีพอ เหลือเพียงการใช้เงินเพื่อดูแลค่าระบบและจ้างนักพัฒนาเพื่อเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ เท่านั้น และก็ปล่อยให้คนเข้ามาเอง แต่นั่นก็ไม่ได้อธิบายว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้แอพสร้างรายได้/อยู่ได้ด้วยตนเองโดยไม่พิ่งเงินจากผู้ก่อตั้ง
การสร้างรายได้ของ Telegram
Pavel นั้นก็ได้ทำการร่างวิธีการสร้างรายได้ของ Telegram ในอนาคตไว้ว่า การหารายได้นั้นจะไม่มาจากการขายข้อมูลหรือการแสดงโฆษณาที่รบกวนผู้ใช้งานอย่างแน่นอน ซึ่งเขาได้ทำการร่างวิธีการสร้างรายได้ดังนี้
- เจ้าของแชนแนลทำการแสดงโฆษณาที่มีบริษัทมาแปะไว้ใน Telegram บนแชนแนลของตัวเอง เพื่อสร้างรายได้ให้กับเจ้าของเองและแบ่งส่วนแบ่งนั้นให้กับ Telegram
- การขาย Sticker (น่าจะเหมือนกับของ Line) ซึ่งผู้ขายก็จะได้รายได้หลังหักส่วนแบ่งจากการผลิตสติกเกอร์
อ้างอิงข้อมูลจาก Durov บน Telegram
ฟีเจอร์เด็ดของ Telegram
นอกจากความเป็นส่วนตัวสุด ๆ (ซึ่งผมก็ได้ทำการเล่ามาทั้งสตอรีนี้แล้ว) ก็ยังรวมไปถึงฟีเจอร์ที่เพื่อนๆ ชื่นชอบอย่าง
- สติกเกอร์และสติกเกอร์ดุ๊กดิ้กให้เลือกใช้ ซึ่งไปหาโหลดกันได้ฟรี
- หรืออยากจะทำเซ็ทสติกเกอร์ของตัวเอง/ของกลุ่มก็สามารถทำได้เองเช่นกัน
- ธีมในหน้าแรกและหน้าแชทที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามใจ ซึ่งไปหาโหลดกันได้ฟรีอีกเช่นกัน
- การโทรส่วนตัว (1 ต่อ 1) และการโทรแบบกลุ่ม (Group Voice Chat)
- แชทกลุ่มและแชนแนลที่สามารถตั้งค่าให้มีการเข้าถึงตามที่กำหนดได้
- ส่งภาพ ไฟล์รูป ไฟล์วิดีโอ ไฟล์เสียง ไฟล์งานแบบไม่บีบอัดสูงสุด 2GB (ซึ่งหลายๆ บริการแทบไม่ให้ส่งเกิน 1 ใน 4)
- สร้างโพลล์ สร้างควิซ ๅ
- ส่งโลเคชันแบบอับเดทล่าสุด
- ค้นหากลุ่มหรือเพื่อนคุยผ่าน “People Nearby”
- รองรับการพัฒนา Chat Bots และการพัฒนาผ่าน API
- สามารถใช้กับอุปกรณ์ได้โดยไม่จำกัดจำนวนเครื่อง
- สามารถจัดระเบียบแชทผ่านโฟลเดอร์ และการแยกหมวดหมู่ไฟล์ตามประเภทไฟล์
- แชทไม่หายอย่างแน่นอน ทำให้เพื่อนๆ สามารถลบแชทเก่า ๆ ออกจากเครื่องได้ แต่แชทก็ไม่หายไปไหน
สมัครใช้ Telegram
เพื่อนๆ สามารถสมัครใช้งาน Telegram ได้ผ่านแอพ Telegram (ผ่าน Google Play Store, Apple Apps Store (ทั้งบน iOS, iPadOS และ macOS), Microsoft Store หรือผ่านเว็บไซต์ Telegram.org ได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายหรือโฆษณาใด ๆ ทั้งสิ้น แค่มีเบอร์โทรศัพท์เท่านั้นก็สามารถเข้าใช้งานได้เลย