ในหนึ่งวันของการทำงาน ก็คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยกับการเปิดหาข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ต ติดต่อสื่อสารและทำงานร่วมกันผ่านการใช้บริการอินเตอร์เน็ต แต่รู้หรือไม่ว่าเรากำลังเสียเวลาไปฟรี ๆ กับการที่จะต้องมาเข้าหน้าเว็บไซต์ กดสร้าง กดนู่นกดนี่ แล้วทำไมเราถึงจะไม่เข้าหน้าสร้างอะไรใหม่โดยตรงเลยหล่ะ นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้งาน .new โดเมนประเภทใหม่ที่จะทำให้การสร้างอะไรซักอย่างหนึ่งเป็นเรื่องสะดวกยิ่งขึ้น

โดเมน .new คืออะไร?

โดเมน .new นั้นเป็นโดเมนที่เปิดรับให้จดโดเมนในปี 2019 ซึ่งปัจจุบันถูกดูแลโดย Google Domains ซึ่งก็จะสามารถทำหน้าที่ในการแปลงโดเมนเป็น IP Address หรืออย่างอื่นไม่ต่างอะไรจากโดเมนทั่วไป แต่จะให้มันทำหน้าที่เหมือนกับ .com หรือ . อื่นๆ ไปทำไม

Google จึงเปิดตัว .new และระบุหน้าที่ของมันให้ทำหน้าที่เป็น Shortcut ให้กับเพื่อนๆ ในการสร้างอะไรใหม่ด้วยการใช้บริการได้แค่เพียงพิมพ์ชื่อบริการที่เราต้องการหรือสิ่งที่ต้องการจะทำ และก็ตามด้วย .new บนเบราว์เซอร์ของเพื่อน ๆ เท่านั้นเอง ก็สามารถเริ่มต้นได้ทันที

แล้วมันดีอย่างไร เราจะมาดูกันครับ

ภาพประกอบจาก Google Registry

โดเมน .new ดีกว่าเข้าเว็บปกติยังไง?

ถ้ายังนึกไม่ออกว่าสองวิธีนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร ผมก็เลยทำการอัดหน้าจอและทำตามขั้นตอนทั้งสองมาให้เปรียบเทียบกันครับว่ามันแตกต่างกันอย่างไร โดยภาพซ้ายจะเป็นการใช้วิธีปกติ (ไม่ใช้ .new) และภาพด้านขวาจะเป็นการใช้ .new

จากในตัวอย่างที่ผมจะนำมาเปรียบเทียบนั้น เราจะใช้ .new กับ Google Docs ด้วยการใช้หน้าที่ของมันในการสร้าง Document ว่างเปล่าหนึ่งอัน

ไม่ใช้ .new

  1. เข้า https://docs.google.com/
  2. จากหน้าแรกให้กด ‘New’ มุมซ้ายบน
  3. เสร็จ

ใช้ .new

  1. เข้า https://docs.new/
  2. เสร็จ

ซึ่งเพื่อนๆ ก็จะเห็นว่าผลลัพธ์นั้นได้เหมือนกัน (ในเรื่องของการเข้าไปสร้างหน้า Document ใหม่) แต่ในภาพด้านขวานั้นจะเห็นว่าการใช้ .new สามารถข้ามขั้นตอนในการรอหน้าเว็บที่เราไม่ต้องการได้ และประหยัดเวลาไปได้ถึง 3 วินาที (โดยค่าความแตกต่างจะแตกต่างกันแล้วแต่ตัวแปรหลายประการ แต่ผมสามารถวัดได้ ) แต่แม้ว่าจะสามารถประหยัดเวลาไปได้เพียงครู่เวลาก็ตาม แต่ก็สามารถให้ความสะดวกไปได้ไม่ใช่น้อย

ใช้บริการ Google ได้ด้วยโดเมน .new

และแน่นอนว่า Google จะหยุดแค่ Google Docs ก็ไม่ถูก เพราะ Google ก็เล่นกับเขาด้วย โดยมี .new ที่เพื่อนๆ สามารถเอาไปใช้ได้ดังตัวอย่างนี้ครับ

  • Docs.new เพื่อสร้าง Documents ใหม่ใน Google Docs
  • Sheets.new เพื่อสร้าง Spreadsheet ใหม่ใน Google Sheets
  • Slides.new เพื่อสร้าง Slideshow ใหม่ใน Google Slides
  • Meet.new เพื่อสร้าง Meeting Room ใหม่ใน Google Meets
  • Cal.new เพื่อสร้างอีเว้นท์/กำหนดการ/งานใน Google Calendar
  • และเช่นกันกับ note.new, script.new, site.new, jam.new สำหรับการสร้างในบริการ Google Notes, Google Apps Script, Google Site, Google Jamboard ตามลำดับ

ซึ่งเพื่อน ๆ ที่ใช้ Google Workspace (หรือ GSuite เดิม) เป็นประจำอยู่แล้วก็จะได้รับประโยชน์จากการใช้ .new ไปไม่ใช่น้อยเลยทีเดียวครับ

ให้คำสั่งกลายเป็นบริการเพียงใช้โดเมน .new

เนื่องจากว่า .new นั้นเป็นรูทโดเมน (Root Domain) ที่หลาย ๆ บริษัทนั้นก็เข้ามาจดโดเมนและสร้าง Shortcuts ตามคำสั่งของผู้ใช้ และโยนไปให้ผู้ใช้งานได้เข้าใช้งานอย่างรวดเร็ว ทำให้เวลาเพื่อนๆ ต้องการที่คิดอยากจะทำอะไร เช่นอยากสร้าง Story บน Medium ใหม่ ก็ใช้โดเมน .new ได้อย่างง่ายดาย ตัวอย่างเช่น

  • Playlist.new ก็จะทำให้เราสามารถสร้าง Playlist ใหม่บน Spotify ได้
  • Story.new ก็จะทำให้เราสามารถสร้าง Story ใหม่บน Medium
  • Task.new ก็จะทำให้เราสร้าง Task ใหม่บน Asana ได้ทันที
  • Link.new ก็จะทำให้เราสามารถสร้าง Short URL ผ่าน bit.ly ได้ทันที

และอื่นๆ อีกมากมายที่เพื่อน ๆ สามารถเข้าไปลองใช้กันได้ พร้อมกับดูรายการโดเมนที่จดในนาม .new และเอาไปใช้งานได้เลยที่ whats.new/shortcuts

แล้ว .new น่าเชื่อถือไหม ?

นอกจากเรื่องของการทำหน้าที่เป็น Shortcuts ที่จำเป็นที่จะต้องเป็น Shortcut สำหรับการสร้างอะไรบางอย่างแล้วก็จะมีหลักการสำหรับผู้ที่มีความสนใจในการจดทะเบียนโดเมนที่เข้มข้นอีกด้วย

ข้อที่หนึ่ง เพราะว่า .new นั้นมีผู้ดูแลเป็น Google โดยตรง ก็จะทำให้เรานั้นไม่ต้องก้งวลว่าใครจะมาทำอะไรแปลกประหลาดหรือสร้างลิงก์ที่สร้างมาเพื่อการโกง ด้วยเงื่อนไขที่คนที่จะสมัคร .new นั้นจะต้องทำการใช้ .new ในการสร้างอะไรใหม่ (Action Creation / Online Creation Flow) เท่านั้น และจำเป็นที่จะต้องใช้ HTTPS บนเว็บไซต์อีกด้วย และหากไม่ทำตามหลักเกณฑ์ภายใน 100 วัน โดเมนนั้นก็จะถือว่าเป็นโมฆะไป ถูกยกเลิกการใช้ .new และไม่คืนเงินอีกต่างหาก

สรุปแล้ว .new ดีหรือเปล่า

สำหรับคนที่สนใจจะนำ .new ไปใช้กับบริการของตนเองก็สามารถทำได้เช่นกัน ซึ่งค่าใช้จ่ายในการให้ใช้ .new ก็เพียง 17,500 บาทต่อปีเท่านั้นเองและมีเงื่อนไขในการใช้งานดังนี้ .new Domain Registration Policy

เพื่อน ๆ ที่สนใจและอยากรู้ว่า .new มีอะไรที่เพื่อน ๆ จะเอาไปใช้งานได้บ้างก็สามารถไปดูได้ที่ whats.new/shortcuts

สนับสนุนโดย

Share this post

About the author