คู่มือสำหรับมือใหม่ที่กำลังจะซื้อสินค้าอิเกียต้องอ่านสตอรีนี้! กับวิธีทั้ง 8 กับวิธีการประหยัดเงินและช่วยให้ช้อปปิ้งได้อย่างมีความสุข แล้วจะต้องทำอย่างไรนั้นก็ต้องอ่านแล้วหล่ะ!
ทำความรู้จักกับอิเกียกันหน่อย
อิเกีย เป็นบริษัทขายสินค้าตกแต่งบ้าน ที่มีบ้านเกิดในประเทศสวีเดน และในปัจจุบันก็มีสินค้าทั้งของตกแต่งบ้าน, เฟอร์นิเจอร์, เครื่องใช้ไฟฟ้า, อุปกรณ์ภายในบ้าน และอีกมากมาย ซึ่งวันนี้เพื่อน ๆ สามารถแวะช้อปปิ้งได้จากทั้งในเว็บไซต์ของอิเกีย (ikea.com/th) และสโตร์บางนา (เมกา บางนา), บางใหญ่ (เซ็นทรัลเวสท์เกต) และที่ใหม่อย่างเอ็มสเฟียร์ (พื้นที่ดิเอ็มดิสทริค)
8 เคล็ดลับการช้อปปิ้งที่อิเกีย
วิธีทดลองสินค้าอิเกียอย่างไรให้จินตนาการออก
เพราะของมันต้องใช้ มันก็เลยต้องไปทดลองใช้ก่อนที่จะซื้อกลับบ้านถูกไหม? จริง ๆ แล้วอิเกียเองก็มีลักษณะการออกแบบร้านภายในให้เพื่อน ๆ ได้ไปทดลองกัน และที่เห็นอย่างชัดเจนเลยก็คือจะไม่มีพนักงานมา “จี้” ให้คำแนะนำสินค้าตอนที่คุณไม่ต้องการอย่างแน่นอน ดังนั้นใครที่ไปอิเกียแล้วก็ควรที่จะไปนั่ง ลองใช้ ดูทรง วัดขนาด ให้เต็มที่ก่อนที่ คุณจะไปเลือกอีกครั้งหนึ่งว่าจะเอาสีอะไร-ลักษณะไหนจากพนักงาน
ภายในชั้นหรือส่วน “โชว์รูม” นั้นจะมีเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ให้เพื่อน ๆ ได้เลือกใช้งาน ทั้งแบบเล็กแบบใหญ่ สี แบบ ความแข็งแรง และอื่น ๆ ให้คุณได้เลือกใช้งานกัน และนอกจากนี้ก็จะมีห้องตัวอย่างพร้อมกับเซ็ทเฟอร์นิเจอร์ ให้คุณได้เห็นไอเดียการตกแต่งบ้านของคุณได้ด้วยตนเองมากมาย โดยทั้งหมดนี้คุณก็สามารถไปทดลองนั่ง-ยืน-ใช้งานได้ทั้งหมด
แต่อย่าลืมว่าช่วงนี้เองก็เป็นช่วงของการระบาดของโรค COVID-19 ที่หลาย ๆ คนเองก็ไม่ได้ล้างมือเมื่อไปสัมผัสทดลองสินค้าที่ต้องการ เราเองก็อยากให้คุณล้างมืออย่างต่อเนื่องหลังจากทดลองสินค้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
วิธีเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์อิเกียด้วยตนเอง
ภายในโชว์รูมจะมีกระดาษ “แท็กราคา” แปะติดไว้กับตัวสินค้าแต่ละชิ้น โดยแท็กนั้นก็จะบอกถึงข้อมูลสินค้าเช่น ชื่อรุ่นสินค้า, ราคา, ขนาด, ตัวเลือกสินค้า, ประเภทสินค้า และรหัสการจัดเก็บสินค้าในเซฟเสิร์ฟ (อ่านต่อเกี่ยวกับรหัสได้ในหัวข้อถัดไป) โดยทั้งหมดนี้ก็น่าจะเป็นข้อมูลที่เพื่อน ๆ ควรรู้ก่อนที่จะซื้อสินค้านี้ในที่สุด ถ้าสนใจก็ไม่ควรพลาดที่จะไปหาอ่านเอาหล่ะ
ส่วนใครมาตัวเปล่าแล้วต้องการเทปวัดขนาด อิเกียก็จะมีกระดาษยาว ๆ ที่สามารถทำหน้าที่เป็นไม้เมตรวัด รวมไปทั้งกระดาษและดินสอสำหรับการจดข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและรหัสสินค้าให้เช่นกัน ทั้งหมดนี้เป็นบริการฟรีนะ! สามารถหยิบเอาไปใช้เพื่อการช้อปปิ้งได้เลย ใครที่จะมาแต่งบ้านที่ลืมอุปกรณ์ต้องไม่กลับบ้านมือเปล่า!
และอีกหนึ่งอย่างที่สำคัญมากก็คือเรื่องแท็กและประเภทสินค้าที่เป็นสินค้ารุ่นเดียวกัน อยู่ติดกัน แต่ขนาด/ลักษณะไม่เท่ากัน ทำให้คุณอาจจะไปหยิบสินค้าผิดตัวแล้วไปเอาอันแพงกว่า (ไม่น่าเป็นปัญหา) หรือถูกตัวแล้วแต่ดูผิดราคาก็เป็นไปได้ (ผมเองก็โดนบ่อย) ดังนั้นถ้าใครเห็นป้ายราคาที่ลดกระหน่ำแบบภาพประกอบด้านล่างแล้ว ก็ดูราคาและลักษณะสินค้าให้ดี ๆ แล้วกันครับ
รู้ใช่ไหม? ว่าต้องไปประกอบเฟอร์นิเจอร์เองที่บ้าน
หลายคนที่มาช้อปปิ้งที่อิเกียเป็นครั้งแรกก็น่าจะมีข้อสงสัยว่าคุณจะไปซื้อมันไปแต่งที่บ้านได้อย่างไร คำตอบก็คือเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมด คุณจะต้องเป็นคนประกอบเฟอร์นิเจอร์พวกนี้ด้วยตนเอง (อัพเดท: มีบริการประกอบจากทางอิเกียแล้วนะ แต่คิดค่าบริการไม่น้อยเหมือนกัน)
มีหนึ่งการวิจัยจาก Harvard Business School ที่มีเนื้อหาถึงเรื่องที่อิเกียให้ลูกค้ามานั่งต่อเฟอร์นิเจอร์เอาเอง ว่ามีผลต่อด้านสมองเป็นอย่างไร ก็พบว่าเมื่อเราลงไม้ลงมือในสิ่งใด (หรือก็คือการประกอบเฟอร์นิเจอร์) นั้นก็จะทำให้เรามีความภาคภูมิใจในตัวเฟอร์นิเจอร์ที่เราได้ประกอบ และก็เป็นการกระตุ้นให้ผู้ซื้อได้เลือกใช้งานสินค้าอิเกียอีกในอนาคต น่าสนใจใช่ไหมหล่ะ!
วิธีสั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์พร้อมตัวเลือกปรับแต่งเอง
ตัดสินใจซื้อสินค้าและเฟอร์นิเจอร์ได้แล้วเหรอ? มีตัวเลือก (เช่นสี, ขนาด, ออปชัน, แอกเซสซอรี) ให้เพื่อน ๆ ด้วยใช่ไหม? ถ้ามีหล่ะก็ คุณจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าคุณต้องไปหยิบของที่ไหนและไม่รู้ด้วยว่าจะต้องหยิบเท่าไหร่อีกด้วย ดังนั้นทางที่ดีก็คือการไปที่เคาน์เตอร์บริการลูกค้าของแต่ละโซนห้องและไปให้พนักงานจัดสินค้าและปริ้นรหัสสินค้า พร้อมกับตำแหน่งสินค้าให้คุณไปหยิบสินค้าที่โซนเซฟเสิร์ฟด้วยตนเอง
เพราะสินค้าบางรายการ รวมไปถึงตัวเลือกเฟอร์นิเจอร์บางอย่างอาจไม่อยู่ในที่ Warehouse จุดเดิมหรืออาจหมดสต๊อกแล้วก็ได้ และของบางอย่างนั้นอยู่กันคนละซอยเลยทีเดียว เราเลยแนะนำให้คุณต้องไปติดต่อพนักงานให้ทำการจัดแบบบนเว็บไซต์และเช็กสต๊อกสินค้า แต่คุณเองก็สามารถทำเองได้ผ่านเว็บไซต์ ikea.com เช่นกัน
และยิ่งช่วงนี้ที่ระบบซัพพลายเชนทั่วโลกกำลังพัง ทำให้สินค้าและตัวเลือกบางรายการก็ไม่มีให้เพื่อน ๆ เลือกเอาไปใช้กัน โดยใบหยิบสินค้านั้นเองก็จะมีรหัส QR Code ให้คุณเอาไปตรวจสอบและเพิ่มเติมสินค้าต่อบนเว็บไซต์ของอิเกียได้ พร้อมกับจำนวนสต๊อกในแต่ละสาขาและราคาที่คุณต้องใช้สำหรับเฟอร์นิเจอร์ DIY นี้ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่คุณจะสามารถกลับมาที่สโตร์หรือสั่งซื้อผ่านออนไลน์หากสินค้ากลับเข้าสต๊อกแล้ว
วิธีการหยิบของใน Warehouse ให้ไม่ยุ่งยาก
ตัดสินใจจะซื้อในโชว์รูมได้แล้วเหรอ? ยอดเยี่ยมครับ! แต่ที่นี่อิเกีย คุณต้องไปหยิบสินค้าด้วยของคุณเองที่ Warehouse (หรือก็คือก่อนถึงเคาน์เตอร์เช็คเอาท์ปกติ) ด้วยตนเอง โดยบริเวณนั้นก็จะมีรถเข็นสินค้าประเภทยกลังให้บริการเช่นกัน โดยขั้นตอนแรกก็คือไปหาเฟอร์นิเจอร์ตามที่กำหนด และไปหยิบ-ยกมันกลับบ้านมาให้ได้ในที่สุด
แต่ตอนที่คุณกำลังช้อปปิ้งอยู่ในโชว์รูมและต้องการซื้อสินค้าชิ้นนี้อยู่พอดี ให้คุณเหลือบไปที่แท็กราคา (ตามภาพประกอบด้านล่าง) และจดรหัสสินค้า xxxx.xxx.xx (เลขในกล่องตรงกลาง) รวมไปถึงแถว (เลขในกล่องซ้าย) และช่อง (เลขในกล่องขวา) เอาไว้ด้วย เพื่อที่คุณจะได้สามารถไปหยิบใน Warehouse ได้อย่างถูกต้อง
เราแนะนำว่าให้คุณไปตรวจสอบสินค้าที่ชั้นวางอีกครั้งนึงว่าเป็นสิ่งที่คุณต้องการหรือไม่ และถ้าหากว่าไม่ตรงหรือลืมที่จะจดรหัสสินค้ามา ก็สามารถหยิบสมาร์ตโฟนและเข้าไปดูเลขรหัสสินค้าและชั้นวางผ่านเว็บไซต์เองได้เลย (หรือติดต่อพนักงานได้นะ)
และเฟอร์นิเจอร์บางชิ้นยังมีกล่องแยกออกมาเป็น 1 และ 2 อีกด้วย ดังนั้นตอนที่คุณไปหยิบสินค้า คุณจะต้องหยิบทั้งชิ้นที่ 1 และ 2 อย่างละหนึ่งกล่อง (เท่ากับหนึ่งชุดพอดี) เพื่อเอาไปเช็กบิล ซึ่งอิเกียทำแบบนี้เพื่อให้คุณได้ขนส่งเฟอร์นิเจอร์ได้ง่ายมากขึ้นและยังไม่หนักมากเกินไปอีกด้วย
หิวก็ไปกินข้าว!
นอกจากร้านค้าเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ขายหน้าร้านค้าอย่างพวกฮอทด็อก, เฟรนช์ฟรายส์, น้ำผลไม้และโคล่าแบบเติมไม่อั้นแล้ว หลายสาขาของอิเกียก็จะมีร้านอาหารอิเกียอยู่ด้วย ที่จะขายอาหารสไตล์สวีเดนชื่อดังอย่าง “สวีดิช มีทบอล” และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยระหว่างนี้คุณก็สามารถพักสมองก่อนจะไปช้อปปิ้งต่อได้เลย
หนึ่งในสิ่งที่อิเกียในทุกประเทศทำนั่นคือการเน้นย้ำว่าการช้อปปิ้งจะต้องเต็มไปด้วยความสุข เราเลยอาจจะเห็นการจัดกิจกรรมที่แตกต่างไปเรื่อย ๆ รวมไปถึงการมอบประสบการณ์การมีส่วนร่วมของคุณในการทำทุกอย่างที่อิเกียตั้งแต่เข้าไปหยิบถุงช้อปปิ้ง จนประกอบเฟอร์นิเจอร์ที่บ้านได้สำเร็จ
และนอกจากนี้พวกอาหารก็ไม่ได้มีราคาแพงมาก แถมน้ำยังเติมได้ไม่อั้น (สำหรับการซื้อแก้วน้ำแบบรีฟิลเท่านั้น) อีกด้วย แถมถ้าวันนี้คุณไม่ได้อยากมาช้อปปิ้งที่อิเกียแต่อยากมากินอาหารก็เข้ามากินได้เช่นเดียวกัน แต่อาจจะอยู่ในซอกหลืบนิดหน่อยเท่านั้นเอง
สำหรับครอบครัวพ่อ-แม่ที่มาช้อปปิ้งกับลูก
นอกจากนี้แล้ว ในสาขาใหญ่ ๆ ของอิเกีย (เช่น อิเกีย บางนา) ก็จะมีพื้นที่สำหรับให้น้อง ๆ เด็กเล็กที่ดูจะไม่มีความสนใจเกี่ยวกับการตกแต่งบ้านเท่าไหร่ให้พ่อแม่ที่มาช้อปปิ้งได้เอาไปฝากไว้ หรือที่เรียกกันว่า Småland
สำหรับพ่อแม่ที่อยากช้อปปิ้งที่อิเกียอย่างเป็นสุขและไม่ต้องกังวลว่าลูกจะไปทำอะไรเสีย-แตกในช็อปก็สามารถฝากลูกเอาไว้ที่นี้ได้ ไม่มีค่าใช้จ่ายครับ เป็นอีกหนึ่งบริการที่พ่อแม่จะได้ใช้เวลาเลือกซื้อสินค้าในอิเกียได้โดยไม่ต้องมีเหตุมาสร้างความรบกวนให้กับการแต่งบ้านของครอบครัว
ถ้าราคาแพงไป ก็แค่ไม่ต้องซื้อ
หนึ่งอย่างเลยที่ผมถือปฏิบัติมาตั้งแต่อิเกียเปิดสาขาแรกในประเทศไทยที่เมกา บางนา ก็คือเรื่องของการให้มูลค่ากับสินค้า ด้วยสโลแกน “ถ้ามันดูแพงเกินไป ก็จะไม่ซื้อ” และหลายครั้งสินค้าพวกนี้ในปีถัดไป ที่ถูกปรับราคาลงไปประมาณ 10 – 30% แล้วแต่ประเภทสินค้าและความแตกต่างของมัน (ถ้ายังไม่ยกเลิกการขายไปเสียก่อนนะ)
ใครที่ได้เดินเที่ยวอิเกียอยู่เป็นประจำน่าจะได้พบกับป้ายราคาที่มีคำเขียนว่า “ราคาของปีที่แล้ว” ที่ในปีนี้ได้มีการปรับลง อาจจะเนื่องจากว่าสินค้านั้นมีการปรับเปลี่ยนวัสดุ หรือจะเพราะว่ามียอดขายที่ไม่เป็นที่น่าพอใจของอิเกียก็เป็นได้ โดยราคาพวกนี้จะมีการปรับลงในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี (เหมือนจะเพราะว่าเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณของบริษัทอิเกีย ประเทศสวีเดน) พร้อมกับไลน์อัพสินค้าใหม่ของอิเกียที่เข้ามาให้คุณได้เอาไปตกแต่งบ้านตามความต้องการ
แต่ก็ต้องบอกไว้ก่อนนะว่าโดยปกติแล้วอิเกียจะไม่มีการปรับราคาขึ้น แล้วมาปรับราคาลงให้เป็นเหมือนโรลเลอร์โคสเตอร์ เหมือนร้านค้าออนไลน์อื่น ๆ ทำอยู่เป็นประจำ แต่จะมีการปรับลงเมื่อสินค้านั้นขายไม่ค่อยดีหรือต้องการเอาสินค้าใหม่มาทดแทนตัวเดิม พูดง่าย ๆ ก็คือการลดล้างสต๊อกนั่นแหละครับ แต่บางที
แวะเซอร์คิวลาร์ ช็อป และแผนกสินค้าตามสภาพ (As-Is)
อย่างสุดท้ายที่วันนี้เราเก็บเอาไว้เป็นอย่างสุดท้ายอย่างแผนกสินค้าตามสภาพ (As-Is) ที่ทางอิเกียเองมักนำสินค้าที่เป็นประเภทตัวโชว์รุ่นเก่า สินค้าที่ถูกลูกค้านำมาขอเงินคืน หรือสินค้าที่มีตำหนิที่ตัวกล่อง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็หมายถึงการมีส่วนลดพิเศษที่เพื่อน ๆ สามารถเลือกซื้อกลับบ้านได้เลยในราคาที่ถูกกว่าสินค้ามือหนึ่งคุณภาพใหม่เอี่ยม
และนอกจากนี้ในปี 2022 ทางอิเกียก็ได้เอารูปแบบการรีไซเคิลในประเทศสวีเดน ที่เป็นร้านค้าสำหรับของที่ไม่ใช้แล้วให้เอามาขายคืนให้กับทางอิเกีย เหมือนเป็นรูปแบบของสินค้ามือสองในรูปแบบร้านค้า “Circular Shop” ที่คุณเองสามารถเข้ามาซื้อได้เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตามก็ต้องเตือนเอาไว้ก่อนว่าสินค้าในแผนกนี้เป็นสินค้าตามสภาพ เห็นแบบไหนก็ได้ตัวนั้นเลย ทำให้คุณเองก็ต้องรับสภาพของมันให้ได้ก่อน และสินค้าพวกนี้ทางอิเกียจะไม่รับคืนสินค้าหรือการเปลี่ยนสินค้าแต่อย่างใด
ข้อมูลอ้างอิง
ภาพประกอบจาก