แน่นอนการเรียนมหาลัย ซึ่งส่วนใหญ่ก็อาจจะต้องไปเรียนในรูปแบบการเรียนออนไลน์นั้น ประโยชน์ก็มี ข้อเสียก็เยอะ แต่วันนี้เราจะมาเปลี่ยนหรือมาหาแอพที่จะทำให้การเรียนของน้องๆ โดยเฉพาะน้องๆ ที่มี iPad ให้ …Super Productive…
เริ่มต้นกันง่ายๆ สำหรับแอปที่น่าเอาไปใช้งานเพื่อให้น้องๆ เอาไปจัดการงานให้ได้ดีและก็มีประสิทธิภาพอีกด้วย สำหรับ blog นี้ พี่ก็จะพยายามที่จะอับเดทอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้น้องๆ ได้เห็น ได้ใช้แอปที่ใหม่สุดๆ ไปเลย
แอพจดเลคเชอร์
เป็นโปรแกรมที่จะขาดไม่ได้เลยสำหรับน้องๆ ที่มี iPad เพื่อที่จะเอามาจดอะไรต่างๆ หรือไม่ก็เอาไว้ดูสไลด์ที่อาจารย์เพื่งอับโหลดได้แหมบๆ สำหรับน้องๆ ที่ยังไม่มี iPad พี่เองก็จะบอกว่า “เดี๋ยวแกก็ซื้อ” แต่สำหรับน้องๆ ที่มีอยู่แล้ว อันนี้ก็เป็นการแนะนำโปรแกรมเพื่อจด lecture ก็แล้วกันนะครับ
เรามาเริ่มจากใช้งานพื้นฐานกันเลยดีกว่า นั่นก็คือ เรามี slide ที่อาจารย์เพิ่งจะแจกมาเป็นไฟล์เมื่อ 10 นาทีที่แล้ว แต่ว่าจะต้องใช้ตอนนี้แล้วสิ ถ้าไปปริ้นท์เลยก็คงจะไม่ทันเรียนแน่นอน หรือว่าถ้าจะจดตามสไลด์ก็เดี๋ยวจะทำให้น้องลืมหรือจดในหัวข้อที่อาจารย์พูดไม่ทันอย่างแน่นอน ดังนั้นแอพที่จะมาทำหน้าที่นี้ให้น้องก็จะต้องสามารถเขียนไฟล์หลากหลายประเภท ซึ่งหนึ่งในไฟล์นั้นก็คือไฟล์นามสกุล PDF นั่นเอง
และเมื่อเขียนหรือทำเครื่องหมายในไฟล์ ผ่านการใช้แอพและใช้ Apple Pencil ในการเขียนแล้ว น้องๆ ก็อาจจะต้องทำการเก็บไฟล์ให้เป็นระเบียบ เพื่อให้น้องสามารถนำสิ่งที่จดลงไปนั้นไปอ่านทบทวนเพื่อทำการสอบหรือเพิ่มความเข้าใจในภายหลังนั่นเอง ซึ่งแอพนั้น นอกจากที่จะต้องมีลูกเล่นปากกาที่หลากหลายแล้ว การช่วยให้น้องๆ สามารถจดได้เร็วขึ้น เป็นระเบียบมากขึ้นนั้นก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันเลย
ดังนั้น วันนี้พี่จึงมานำเสนอแอพที่น่าสนใจสำหรับการจดโน๊ตกันครับ
GoodNotes 5
แอปนี้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายที่สุด (อ้างอิงจากข้อมูลลำดับแอพยอดนิยมบน Apple Apps Store) ด้วยเหตุผลที่ว่ามีอินเตอร์เฟสที่ใช้งานได้ง่าย เปลี่ยนสีปากกาได้อย่างรวดเร็ว ทำให้จดโน้ตและก็วาดรูปได้อย่างง่ายดายไปเลย สำหรับเวอร์ชัน 5 นี้ก็ทำให้น้องๆ จัดการเลคเชอร์เป็นไปตามโฟลเดอร์เพื่อเรียบเรียงได้ง่ายอีกด้วย
Notability
แม้ว่าอินเตอร์เฟสจะไม่เฟี้ยวฟ้าวเท่า Goodnotes แต่ฟีเจอร์ที่แปะมาให้นั้นเต็มอิ่มซะเหลือเกิน ทั้งการวาดรูปทรงและทำให้มันตรงได้ในทันที ฟีเจอร์การค้นหาคำหรือประโยคจากตัวอักษรที่เราเขียนไป ก็ไม่สามารถทำให้ Notability นั้นยังหลุดจากการเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของน้องๆ นักศึกษาได้เสียที
ฟังก์ชันที่พี่เห็นว่ามันว้าวมากๆ ก็คือการอัดเสียงครับ ปกติแล้วเราก็อัดเสียงไปมันก็ไม่มีอะไรหรอก แต่ว่า Notability มันก็จะไฮไลต์จุดที่เรากำลังเขียนอยู่ ณ เวลาตามที่ได้อัดเสียงไว้ ทำให้น้องๆ สามารถเข้ามาย้อนดูเพื่อมาตรวจสอบว่าเราได้เขียนสรุปของเราได้ถูกต้องตามที่อาจารย์อธิบายได้หรือไม่นั่นเอง
พร้อมกับฟีเจอร์การอ่านตัวอักษร ทำให้เราสามารถค้นหาว่าเราเขียนคำใดไว้ที่ไหนจากลายมือของเราได้นั่นเอง เป็นฟีเจอร์ที่คู่ควรมากสำหรับน้องๆ ที่อาจจะหลงๆ ลืมๆ ว่าจดอะไรไว้หน้าไหนได้อย่างดีเยี่ยมเลยทีเดียวครับ ซึ่งค้นหาภาษาไทยได้ด้วยนะขอบอก แต่สำหรับน้องๆ หรือเพื่อนๆ ที่เขียนตัวอักษรหวัดเกินไปก็อาจจะช่วยไม่ได้น้าา
Microsoft OneNote
ไมโครซอฟท์วันโน๊ตนั้นเป็นหนึ่งในแอพที่น่าจะมาเป็นคู่แข่งในตลาดการจดโน๊ตได้อย่างดีเยี่ยมเลยทีเดียวครับ ทั้งฟีเจอร์การจดด้วยปากกา จดด้วยการพิมพ์ จดด้วยการอัดเสียง ใส่ภาพ ใส่ไฟล์ประกอบก็สามารถทำได้ทันที พร้อมทั้งหน้ากระดาษที่ยาวอย่างไม่จำกัด (หรือที่ไมโครซอฟท์เรียกว่า Canvas) ทำให้น้องๆ สามารถทำอะไรก็ได้อย่างตามใจชอบจริงๆ
ไมโครซอฟท์วันโน๊ตนั้นเป็นแอพที่มีอยู่ทั้งในทุกแพลตฟอร์มเลยที่เดียวครับ ทั้งเว็บ และระบบปฎิบัติการอย่างวินโดวส์ แมคโอเอส ไอโอเอส และแอนดรอยด์ ทำให้น้องๆ จดอะไร ใส่อะไรเข้าไป จากที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้นั่นเองครับ
แต่พูดมาแบบนี้ก็แอบมีข้อเสียอยู่เหมือนกันครับ นั่นคือการที่มันเป็น “เป็ด” นั่นเอง น้องๆ จะรู้สึกถึงการใช้งานที่อาจจะไม่สุดในทุกๆ การใช้งาน แต่น้องๆ ที่ชอบความทำได้ทุกอย่างนี้ น้องก็อาจจะหลงรักในบริการนี้ก็เป็นได้ครับ
สำหรับน้องๆ ที่อาจจะไม่ชอบเขียน ชอบพิมพ์มากกว่า
นอกจากวิธีการเก็บรวบรวมไอเดีย-ความรู้ ผ่านการเขียนแล้ว พี่เองก็อยากให้ลองวิธี “พิมพ์” ดูครับ ข้อดีของการจดด้วยการพิมพ์นั่นก็คือเราสามารถที่จะจัดการข้อมูลนั้นง่ายกว่า ระบบคอมพิวเตอร์สามารถทำการค้นหาข้อความในตัวอักษรได้ง่าย ทำให้น้องๆ สามารถดึงข้อมูลที่อาจจะจดมาตั้ง 5 ปีที่แล้วได้ในทันทีเลย ไม่ต้องไปนั่งไล่ดูแต่ละไฟล์นั่นเอง ซึ่งแต่ละบริการนั้นก็แล้วแต่ฟีเจอร์ที่อยากจะได้จากการจดด้วยการพิมพ์นั่นเองครับ โดยพี่ได้ทำการเขียนตัวอย่างแอพเอาไว้แล้วในหัวข้อด้านล่างครับ
บริการจัดเก็บไฟล์-แชร์งาน
นอกจากเลคเชอร์ที่น้องอาจจะกรี้ด (แบบขวัญผวา) ว่าไฟล์ที่เราอยากใช้นั้นมันหายไปไหน หรือว่าไฟล์นั้นอยู่อีกเครื่องนึง โดยเครื่องนั้นก็อยู่บ้าน ไปเอาก็ไม่ใช่เรื่อง
ไฟล์เหล่านั้นก็อย่างเช่นรายงาน ธีสิสจบ หรือแม้กระทั่งไฟล์ที่อาจารย์ให้มาเพื่อดูประกอบการเรียนการสอน พี่จะบอกเลยครับว่าไฟล์เหล่านั้นเปรียบเสมือนชีวิต จิตใจ จิตวิญญาณของน้องเลยก็ว่าได้ ถ้าทำหายชึ้นมาบอกเลยว่างานเข้าครับ ดังนั้นการเก็บไฟล์ในคลาวด์ เพื่อให้น้องสามารถเข้าถึงไฟล์ได้จากที่ไหนก็ได้ก็จะช่วยน้องตรงนี้ได้ครับ
ซึ่งที่จัดเก็บคลาวด์นั้นก็มีอยู่หลายยี่ห้อ วันนี้พี่จึงเอามาเปรียบเทียบให้ดูครับ ว่าอันไหนเหมาะสมกับน้องมากที่สุด
Dropbox
Dropbox เป็นบริการเก็บไฟล์แบบส่งเสริมให้คนในกลุ่มทำงานร่วมกัน เพราะว่าฟีเจอร์อย่างการแชร์ไฟล์ การส่งไฟล์ หรือแม้กระทั่งการเชื่อมต่อกับแอพอื่นๆ ซึ่งเป็นไปได้อย่างง่ายดาย ผู้ใช้งานใหม่หรือเพิ่งเข้าสู่โลกการเก็บไฟล์บนคลาวด์ก็จะใช้งานบริการนี้อย่างง่ายดายเลยทีเดียว พี่ยืนยัน
รวมถึงการย้อนเวอร์ชันไฟล์ได้ไม่จำกัดจำนวน เป็นเวลา 30 วัน [1] เพราะบางทีเราอาจจะทำอะไรพลาดไป เช่นจัดฟอร์แมทของรายงานผิดไปตั้งแต่ตอนไหนก็ไม่รู้ หรือ ไวรัสเข้าเครื่องทำให้ไฟล์หายไปหมดเลย หรือ ไวรัสไปทำการลบไฟล์บน Dropbox ทิ้ง น้องๆ ก็จะสามารถกู้ไฟล์คืนกลับมาได้อย่างง่ายดาย โดยการย้อนไฟล์หรือโฟลเดอร์ไปยังวันที่ก่อนเกิดเหตุและก็ตู้ม ย้อนไฟล์เรียบร้อยแล้ว (ฟีเจอร์นี้เฉพาะผู้ใช้งานแบบเสียค่าบริการ)
ข้อดีของ Dropbox อีกอย่างหนึ่งคือการ sync ไฟล์บนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่รวดเร็วอย่างสายฟ้าแลบ เพราะ Dropbox จะทำการ sync เพียงส่วนที่มีการแก้ไขเท่านั้น เช่นหากว่าน้องทำการเขียนชื่อหัวข้อรายงานลงไปบนไฟล์ Word แล้วกด save ครั้งต่อไปที่น้องอาจจะเข้าไปทำการเพิ่มสารบัญ Dropbox ก็จะทำการ sync เพียงจุดที่เพิ่ม/ลด จากการ sync ครั้งแรกนั่นเอง ทำให้ไฟล์ของน้องนั้นเป็นเวอร์ชันล่าสุดได้อย่างง่ายดาย รวมถึงมันก็จะไม่ค่อยกินทรัพยากรทางปริมาณอินเตอร์เน็ต และทรัพยากรของเครื่องเมื่อเทียบกับบริการอื่นอีกด้วยครับ
ส่วนในเรื่องของราคาแล้ว หากน้องใช้งานมันอย่างต่อเนื่องและเมามันจริงๆ พี่ว่าค่าบริการนั้นก็ไม่ได้สูงกว่าบริการอื่นซะเท่าไหร่ครับ เพราะว่าอย่าลืมว่ามันเก็บเวอร์ชันของไฟล์ให้น้องๆ อย่างไม่จำกัด จึงทำให้ 2TB หรือ 3TB ของน้องๆ ก็ไม่ใช่ปริมาตรนั้นอีกต่อไป
สำหรับน้องๆ ที่สนใจ ก็สามารถเข้าไปสมัคร Dropbox ได้ที่ลิงก์นี้เพื่อรับ 500MB ไปเพิ่มฟรีๆ เลย แล้วเข้าใช้งานในทั้งเว็บไซต์และตัว Desktop sync ด้วยนะครับ
แล้วบริการเก็บไฟล์อื่นหล่ะ
Google Drive และ Microsoft OneDrive ก็เป็นบริการของ Google และก็ Microsoft โดยข้อดีหลักๆ ของ 2 บริการนี้คือ หากน้องๆ ได้รับอีเมล์สำหรับนักศึกษาแล้ว และทางสถาบัน/มหาลัยได้เปิดให้ใช้ น้องๆ จะสามารถใช้ Google Drive ในความจุไม่อั้น และสูงสุดที่ 5 TB สำหรับ OneDrive อีกด้วย! ข้อดีของมันก็คือที่จัดเก็บไฟล์ที่ฟรีเนี่ยแหละครับ โดยน้องๆ ต้องไปลองฟังวิธีการใช้งานและข้อกำหนดในการใช้งานหลังจากน้องจบการศึกษาภายหลังด้วยนะครับ เค้าไม่ได้ให้น้องๆ ใช้ฟรีตลอดไปหรอกนะ
แต่ที่พี่ไม่แนะนำใช้ใช้ก็เพราะว่า Google Drive นั้นมีปัญหาในการ sync ไฟล์กับเครื่องคอมพิวเตอร์ Windows และเวลาที่ใช้สำหรับการดาวน์โหลดไฟล์บนเว็บไซต์ที่ช้ามาก เพราะต้อง ZIP ไฟล์ก่อน
และ Microsoft OneDrive ที่มีปัญหาในการ sync กับเครื่องคอมพิวเตอร์ระบบ macOS และการอับโหลดนั้น บางครั้งถ้าเราไม่ได้เชื่อมต่อมันนานๆ ก็จะใช้ทรัพยากรในการ sync ข้อมูลค่อนข้างมาก และบางครั้งอยู่ดีๆ ก็จะหยุดเชื่อมต่อไปเลยโดยไม่รู้สาเหตุอีกด้วย
แล้วตกลงเลือกอะไรดี
สำหรับพี่แล้ว เก็บไว้ในที่ที่น้องคิดว่าจะไม่ทำหายดีที่สุดครับ จะเก็บไว้ที่ Google Drive หรือ Microsoft OneDrive ก็ได้ เพราะน้องได้ที่จัดเก็บฟรีจากอีเมล์มหาลัย หรือน้องอาจจะใช้บริการอื่นก็ได้ อันนี้ก็อยู่ที่งบที่น้องมีและจะใช้กับอุปกรณ์อะไรบ้างนั่นเอง
โปรแกรมจัดเก็บความรู้และไอเดีย
การที่น้องๆ มีระเบียบในการจัดเก็บข้อมูลนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ตอนสอบ น้องๆ ก็อยากที่จะดึงข้อมูลที่เคยเรียนออกมาให้ได้เร็วที่สุด เพื่อที่จะมาทำเป็นสรุป (เพื่อนำไปอย่างน้อยก็คือเอาสรุปไปสอบ) หรือเพื่อนำเอาไปใช้งานในโปรเจ็กต์ที่แต่ละวิชานั้นให้มานั่นเอง หรือเพื่อที่จะนำไปพัฒนาตัวเอง (Lesson Learned) หรือไม่กระทั่งว่าเพื่อสรุปว่าเราได้อะไร (Knowledge Retrospect) หรือเพื่อนำไปสอนรุ่นน้องต่อไป (Story Telling) วันนี้พี่ก็เลยจะมานำเสนอ
Notion
Notion คือบริการผ่านเว็บไซต์ แอปบน Android & iOS และ แอปบนคอมพิวเตอร์ที่จะทำให้น้องๆ เก็บความรู้ หรือที่เรียกว่าคลังความรู้ (Knowledge Base) โดยหลักการคือ ทำให้เรานั้นเก็บความรู้และสามารถดึงกลับมาใช้งานได้อีกครั้งหนึ่ง วิธีการใช้งานก็เหมือนการเขียน Diary เนี่ยแหละครับ แต่พี่เองจะชอบแยกประเภทออกมา ตามการใช้งาน ตัวอย่างเช่นการเงิน ท่องเที่ยว การเรียน โปรเจ็กต์ เป็นต้นครับ
วิธีการใช้งานของแอปนี้ใช้งานง่ายมากๆ น้องๆ สามารถที่จะลากวางอะไรตรงไหนก็ได้เลย และก็สามารถมี sub-folder (หรือที่เรียกว่า page) ข้างในหน้านั้นได้ ทำให้น้องๆ นั้นสามารถไปเก็บข้อมูลเป็นลำดับชั้นได้ไม่จำกัดนั่นเอง จะเพื่มเนื้อหา, เพื่มรูป, เพื่ม PDF, เพิ่ม tables (หรือ database) ก็ได้เช่นเดียวกัน
ในตอนนี้ พี่ก็ได้ใช้งานมันมาทดแทนการสร้างสรุปเรียบร้อยแล้ว (จดก็อีกโปรแกรมนึง แล้วค่อยมาสร้างสรุปจากที่เราจดที่โปรแกรมนี้)
และนอกจากที่จะเอามาเก็บข้อมูลแล้ว น้องๆ ก็สามารถเอามาเก็บข้อมูลอย่างอื่น เช่นตารางค่าใช้จ่าย เพื่อให้เรานั้นควบคุมรายรับรายจ่ายไม่ให้มันเยอะเกินไป ตามตัวอย่างด้านล่างเลย
หรือหากว่าต้องการที่จะนัดเพื่อนไปเที่ยว ก็สามารถทำเป็นแพลนการเดินทางได้เช่นเดียวกัน โดยน้องๆ ก็จะสามารถเพื่มรูปเพื่อแสดงผลเป็นแบบ Gallery ได้เลย (ตามภาพด้านล่าง) เหมาะกับการเอาไปวางแผนกิน หรือแปะไว้เผื่อเที่ยวเป็นต้น
และยังมีฟังก์ชันอีกเยอะมากมายที่พี่อาจจะไม่ได้เขียนเอาไว้ ตัวอย่างเช่นการสร้างตาราง database ที่ทำให้ข้อมูลในแต่ละหน้ารวามเข้าด้วยกัน แต่พี่อยากที่จะให้น้องลองไปดูก่อน ผ่านลิ้งค์นี้ notion.so/?r=1dc974d6d17b402685c32308d9f0be4e น้องๆ ก็จะได้ใช้งานแบบพรีเมียม (นั่นก็คือใช้งานได้ไม่จำกัดปริมาณเนื้อหา) ได้ฟรี 4 เดือนครับ สำหรับน้องๆ สายฟรีก็สามารถสร้าง Workspace เพื่มไม่จำกัดเพื่อให้ใช้งานได้ไม่จำกัดแล้วครับ
แถม : เว็บเพื่อโหลดไอคอน icons8.com
นอกจากที่ Notion ของน้องจะต้องมีระเบียบ และเข้าถึงได้ง่ายแล้วนั้น มันก็จะต้องสวยด้วยครับ เว็บ icons8.com ก็มีไอคอนเพื่อให้น้องเอาไปเปลี่ยนไอคอนเรื่มต้นของ Notion ได้อย่างง่ายดายครับ
Web Snippet by Notion
เมื่อน้องได้เจอเว็บไซต์ที่น่าสนใจ อาจจะเหมาะกับการเก็บหรือแชร์นั้น ปกติน้องก็จะเก็บเป็น URL ไว้ใน Web Browser ใช่มั้ยหล่ะ แต่ถ้าอีกครั้งนึงน้องเข้ามาเว็บนั้นมันหายไปแล้วหล่ะ น้องจะทำยังไง หรือน้องต้องการที่จะเขียนโน๊ตเพื่มเติม วิธีเดิมๆ ก็ใช้ไม่ได้ผลแล้ว วันนี้พี่ก็จะมาแนะนำ Web Snippet โดยการใช้ Notion นั่นเองครับ
วิธีการใช้งานนั่นก็คือ
- โหลด extension มาก่อน และก็เชื่อมกับบัญชี Notion ของน้องเอง
- หากเจอไปเจอเว็บเด็ดๆ โดนๆ น้องก็ทำการกดปุ่ม Notion (ตามภาพด้านซ้าย) และก็จะขึ้นว่าจะให้ save ไว้ที่ไหน (ตัวอย่างเช่น เก็บไว้ใน list database)
และน้องๆ ก็จะได้ผลลัพท์คล้ายๆ ภาพด้านซ้ายนั่นเองครับ หากว่าน้องต้องการที่จะทำความเข้าใจ extensions มากกว่านี้ก็สามารถเข้าไปดูได้ที่นี่ครับ
Evernote
จริงๆ แล้วบริการอย่าง Evernote นั้นก็สามารถที่จะทำหน้าที่เหมือน Notion ได้เลย รวมถึงฟีเจอร์ของ Web Snipplet นั้นก็มีเหมือนกันกับตัว Notion
แต่ด้วยว่าบริการนี้ ฟีเจอร์ฟรุ้งฟริ้งอาจจะเยอะไปหน่อย อารมณ์เหมือนกับว่าน้องๆ ใช้ Microsoft Word ในการเก็บโน้ตอ่ะครับ มันเก็บได้เหมือนกัน แต่อาจจะต้องมานั่งวุ่นวายกับ format ของตัวอักษร ก็เลยทำให้พี่เองก็ปลงใจไปใช้ Evernote แทนครับ
Honorable Mention
นอกจาก 2 บริการนี้ ก็ยังรวมถึง Pocket by Mozilla หรือ Apple Reading List ครับ ซึ่งก็จะไม่ขอลงรายละเอียดเพราะอาจจะยังไม่ดีเท่า 2 ตัวที่พี่ได้เล่ามานั่นเองครับ
ส่งการบ้าน
เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับการเรียนที่มหาลัย และก็แทบจะไม่ต้องเกริ่นอะไรมาก มันก็เหมือนรายงานที่น้องๆ เคยทำกันมาเนี่ยแหละครับ แต่ตัวที่เป็นจุดยากคือ จะแบ่งงานยังไง และเอางานที่แต่ละคนทำมานั้นมารวมเป็นงานเดียวกันได้อย่างไร พี่เลยขอเสนอเป็น Microsoft Office suite ครับ
แต่อาจารย์จำนวนหนึ่งก็ใช้ Google Classroom การที่น้องใช้ Google Docs / Google Sheets / Google Slides / Google Drive ก็ดูจะมีเหตุผลอยู่นะครับ แต่ในมุมมองพี่แล้ว การส่งการบ้านเป็นไฟล์ PDF หรือไฟล์ของ Microsoft นั้นดีกว่า เพราะมันสามารถถูกดาวน์โหลดลงมาเก็บไว้ในเครื่องได้นั่นเอง
หรือสาย Apple เลยก็มีอย่างเช่น Pages, Numbers, Keynotes, iMessage ที่น้องสามารถสร้างรายงานที่ดึงดูดด้วย animations หรือ 3D จากแอปพวกนั้นนั่นเองครับ
ทำโปรเจ็กต์กับเพื่อนๆ
นอกจากโปรเจ็กต์ที่เหมือนจะต้องทำคนเดียวแล้ว ก็จะมีอีกหลายงานที่จำเป็นที่จะต้องใช้เพื่อนในการทำงานให้มันเสร็จไป ซึ่งการคุยกับเพื่อนผ่าน Line / Facebook Messenger นั้นก็อาจจะทำให้น้องไม่ได้งานเอาน่ะสิครับ
ดังนั้นแอพในการทำงานกับเพื่อนๆ ก็ควรที่จะมีการคุยในลักษณะเป็นหัวข้อไป (เหมือนคอมเม้นท์-โพสต์ในเฟสบุ๊คอ่ะครับ) และมีฟีเจอร์ที่ออกแบบมาเพื่อทำงานโดยเฉพาะ ซึ่งมันจะทำให้น้องๆ แยกระหว่างงาน (ซึ่งเร่งด่วน) หรือแชท (ซึ่งไม่เร็งด่วนเลย) ออกจากกันครับ
Microsoft Teams
คุยงาน (ผ่านการพิมพ์ และ ผ่านการวิดีโอคอล) และนอกจากนั้นก็สามารถทำหน้าที่เหมือนเป็น Slack ประจำ Microsoft เนี่ยแหละครับ
ข้อดีของการใช้บริการทั้งเซ็ทแบบนี้ (ก็คือบริการของ Microsoft อย่างเดียวเท่านั้น) ก็เพราะว่า เวลาเราต้องการที่จะแชร์อะไรมันก็สามารถทำได้ง่าย และทำให้ไฟล์งานนั้นไปอยู่ในที่เดียวกัน ป้องกันการที่ข้อมูลหายหรือว่าผิดพลาดได้ขึ้นเยอะเลยครับ
จัดตารางเรียน
นอกเหนือจากการจัดการเรื่องความรู้แล้วนั้น น้องๆ ก็จำเป็นที่จะต้องจัดเวลาให้เป็นเช่นเดียวกันครับ บางทีอาจารย์เค้าอยากที่จะนัดน้องๆ เรียนเพิ่มเติมเพื่อชดเชย หรือมีการยกเลิกคลาสในวันนี้ไป พี่ก็เลยขอแนะนำให้เก็บเรื่องตารางเวลาไว้ในโปรแกรม Google Calendar ครับ เพราะด้วยอินเตอร์เฟสที่ดูใช้งานค่อนข้างง่าย และ Google ก็จะมีการเพิ่มตารางต่างๆ ที่ Google อ่านจากอีเมล์ของเราครับ
จัดเก็บความทรงจำ เพื่มเติมคุณภาพชีวิต
การเขียนความทรงจำในแต่ละวันนั้น นอกจากที่จะทำให้น้องสามารถย้อนวันวานที่เคยมีในปีแรกๆ ของการเรียนมหาลัยฯ แต่นอกจากนั้นก็คือการจดว่า ‘ในแต่ละวันนั้นได้เรียนอะไร หรือได้ประสบการณ์อะไร’ เพื่อให้น้องๆ สามารถนำมาปรับตัวได้อย่างรวดเร็วนั่นเอง ตัวอย่างแอปสำหรับหมวดนี้ก็มีอย่างเช่น
ถ่ายภาพและอับโหลดขึ้น Google Photos
ไม่ต้องมีภาพประกอบหรอกเนอะ ก็เอามาทำหน้าที่เป็นเหมือน backup พวกรูปที่เราเคยถ่ายเอาไว้นั่นเอง เพื่อให้ในภายหลังนั้น เราสามารถไปค้นหาภาพที่เราเคยไม่สนใจในตอนนี้ แต่มามีเป็นประโยชน์ในอีกหลายปีข้างหน้าก็ได้ครับ
เขียน Diary ลงบน Notion
นอกจากการถ่ายภาพแล้ว พี่เองก็ชอบที่จะทำการเขียนเป็น diary เอาไว้ ว่าในแต่ละวันนั้นทำอะไรไป อาจจะไม่ต้องลงรายละเอียดอะไรมาก แต่ก็เขียนเป็นเหมือนหัวข้อต่างๆ และก็คำอธิบายนิดๆ หน่อยๆ Apps สำหรับการเขียน diary นี้ก็มีเช่น Notion หรือแม้กระทั่ง Microsoft Word ก็สามารถเขียนลงไปได้เช่นเดียวกันครับ
ทำ Emotion Diary ลงบน Notion
เป็นการจดว่าในแต่ละช่วงเวลา (เช่น เช้า กลางวัน เย็น) เรารู้สึกยังไง เช่นรู้สึกตลก รู้สึกท้อ รู้สึกตื่นเต้น เพื่อให้เรานั้นสังเกตุตัวเองว่าเรากำลังจะเป็นอะไร เรารู้สึกหดหู่บ่อยเกินไปหรือเปล่า การที่เรารู้สึกไม่ดีหลายๆ ครั้งในรอบหลายๆ วันนั้นก็สามารถทำให้เราเสียสุขภาพอีกด้วย หรือทำให้เราเป็นซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัวก็ได้นะครับ ทางที่ดีคือเราต้องสำรวจตัวเอง ว่าเรานั้นรู้สึกดีอยู่หรือเปล่า วิธีการจดก็เหมือนกับ diary เนี่ยแหละครับ น้องๆ อาจจะจดลงไปใน Notion ก็ได้ครับ เหมือนเดิม 🙂
ทำ Daily Achievement Diary ลงบน Notion
นอกจากการทำ diary ว่าทำอะไรไปแล้วบ้าง การสร้างเป้าหมายที่ต้องทำทุกวัน เพื่อให้น้องๆ เปลี่ยนไปเป็นคนใหม่ ตามที่น้องอยากที่จะเป็นก็เป็นอีกหนึ่งอันที่น้องน่าจะทำนะครับ เช่นว่าวันนี้จะเดิน 1 กิโลเมตรเป็นต้น ก็สามารถจดลงไปใน Notion ได้ผ่านการสร้าง View ประเภท Table นั่นเองครับ ตามภาพด้านบนเลย
เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ผ่าน Apple Podcast
Podcast เป็นเหมือนการเล่าเรื่องราวต่างๆ โดยก็จะมีคนพูดเนี่ยแหละครับ มาพูดในเรื่องต่างๆ ตัวอย่างเช่น ‘รู้ว่าวางแผนชีวิตผิดพลาด ให้กำลังใจตัวเองยังไงดี’ โดยที่พี่ฟังนั้นก็มีเช่น ‘The Money Case’, ‘คำนี้ดี’, ‘Super Productive’, ‘The Secret Sauce’, ‘R U OK’ โดยน้องๆ สามารถเข้าไปฟังได้ในแอป Apple Podcast, Spotify หรือแม้กระทั่ง YouTube ของ The Standard ครับ
อุปกรณ์ช่วยเหลือการเรียน
นอกจากการเรียนทั่วไปแล้ว บางครั้งเราก็ไม่ได้ทำแค่นั้นมั้ยหล่ะครับ ก็จะต้องมีแอปมาค้นหาหรือช่วยในการเรียนอีกด้วย
เครื่องคิดเลข Tydlig
แอปนี้เก่ามากๆ แล้ว แต่ก็ยังเป็นแอปที่ยังคงทำให้ผมเองนั้นติดใจมัน ด้วยว่าเราสามารถโยงตัวเลขไปมา และก็สามารถทำใหัมันอับเดทต่อเนื่องได้ด้วย แอปนี้จึงเป็นหนึ่งในแอปที่ผมอยากที่จะเอามาแชร์ให้กับน้องๆ ดูครับ
เครื่องคิดเลขเขียนได้สอนได้ Microsoft Math Solver
นอกจากเครื่องคิดเลขแบบทั่วๆ ไปแล้วที่มันก็ติดโทรศัพท์มาให้เรียบร้อยแล้ว น้องๆ เองก็อาจจะต้องมีแอพเพื่อมาคอยทำการแก้ไขสมการหรือการคำนวณที่น้องอาจจะไม่รู้จักซะเท่าไหร่ แอพนี้น้องๆ ก็สามารถเขียนหรือสแกนสมการเพื่อให้ตัวแอพนั้นทำการแก้สมการให้อีกด้วย
วาดรูปและออกแบบโดย Concepts
เป็นโปรแกรมวาดรูปเนี่ยแหละครับ แต่ก็จะมีแปรงและเส้นต่างๆ ที่เราสามารถใช้งานได้ฟรี ย้ำว่าฟรีนะครับ แต่ถ้าต้องการที่จะใช้แปรงแบบอื่น ก็จะมีค่าใช้จ่ายนิดๆ หน่อยๆ สำหรับน้องๆ ที่วาดรูปเป็น ก็สามารถทำงานเพื่อเอาไปขายได้เหมือนกันนะครับ อาจจะคืนทุนค่าซื้อ iPad ได้เยอะนะครับ