ใครเคยมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้ WiFi ภายในบ้านอย่างเช่น เน็ตไม่เร็วตามที่ซื้อมาเลย เน็ตบางที่โหลดหน้าเว็บไม่ขึ้น วันนี้เราก็จะมาแนะนำเทคโนโลยีใหม่ที่ถูกเรียกว่า Mesh WiFi Network แล้วมันคืออะไร ซื้อมาแล้วจะทำให้โหลด Facebook, YouTube, Twitter แล้วหัวแตกเลยหรือเปล่า ? ในสตอรีนี้เราก็จะมาเจาะลึกกันด้วยว่า Mesh WiFi นั้นแตกต่างจากเราเตอร์​ไวไฟมากแค่ไหน หรือจะเป็นแค่ชื่อทางการตลาดเพื่อมาขายเราเตอร์ราคาแพง ๆ เท่านั้น

WiFi แบบเดิม ๆ ไม่ตอบโจทย์การใช้งานรุ่นใหม่แล้ว

ปัญหาที่พบก็คือ พอเราต้องการจะใช้อินเตอร์เน็ตภายในบ้านบางทีมันก็อ่อน บางทีก็คืออยู่ดี ๆ พังไปเลยอย่าง “ไม่สามารถเข้าถึงได้” แต่สัญลักษณ์ไวไฟยังอยู่ มีใครเป็นแบบนี้กันอยู่หรือเปล่า

จะบอกว่ามันเป็นเพราะสัญญาณไวไฟนั้นมันเบาเกินไปนั่นเอง เป็นปัญหาที่เราเองก็ไม่อยากที่จะให้มันมีและก็ไม่รู้ว่าจะแก้ไขยังไงอีกด้วย รวมถึงเดี๋ยวนี้ มีอุปกรณ์ที่สามารถต่ออินเตอร์เน็ตได้เต็มไปหมด ความ “smart” เต็มไปทั่วบ้านทั่วเมือง มันก็ทำให้มีอุปกรณ์ที่แย่งใช้แบนด์วิทธิ์หรือ “อินเตอร์เน็ต” ซะเยอะแยะ เช่น

  • Smart TV
  • กล้องวงจรปิดที่ต่ออินเตอร์เน็ต (IP Camera)
  • Smart Light
  • Tablet

และก็อีกมากมายก่ายกองที่วันนี้ก็คงอธิบายไม่หมด ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ก็ต่างใช้ไวไฟกันทั้งนั้น แย่งกันขอใช้งาน จนทำให้เราเตอร์มันก็ทำงานไม่ไหว ทำให้ความเร็วในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตกลายเป็นว่าแย่ลงเข้าไปอีกนั่นเอง

การแก้ปัญหาเน็ตใช้ได้ไม่ทั่วบ้าน (แบบเดิม)

โยงมาจากปัญหาข้างต้น เพื่อนๆ ก็จะเริ่มมีความคิดว่า “เฮ้ย ฉันซื้อแพคเกจ (จากผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต) มาตั้งแพง ทำไมพอย้ายไปเล่นที่อื่นมันเลยช้าขนาดนี้หล่ะ” เราเลยมาดูวิธีการแก้ไขปัญหาแบบเก่ากันครับ

ซื้อเราเตอร์ใหม่ที่มันแรงกว่านี้

เพราะเราเตอร์รุ่นเก่านั้นอาจมีสเปคที่ปล่อยความเร็วไวไฟที่น้อยกว่ารุ่นใหม่ การซื้อเราเตอร์ใหม่เพื่อมาแทนอันเดิมก็อาจจะเป็นหนึ่งวิธีที่เพื่อนๆ อาจที่จะเลือกใช้เช่นกัน แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะมีสัญญาณไปถึงที่เราใช้งานอินเตอร์เน็ตมันบ่อยๆ หน่ะสิครับ

ท้าวความจาก Phash Speed 4 กับเราเตอร์ราคาเป็นหมื่น ซึ่งข้อดีของมันก็คือสามารถบริการอินเตอร์เน็ตในบ้านได้คล่องขึ้นและก็ปล่อยไวไฟที่ได้บริเวณมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเพื่อนๆ จะต้องซื้อเราเตอร์ขนาดนั้นมาเพื่อให้ความครอบคลุมทั่วบ้านหรอกนะครับ แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่าหากว่าเราเตอร์ตัวนั้นอยู่ไกล มันจะเร็วเหมือนเดิมหรือเปล่า

มันคือ Phash Speed — ภาพจากผู้ใช้งานบน facebook
สนับสนุนโดย

ซื้อเราเตอร์หลายๆ ตัว

อีกวิธีหนึ่งของการแก้ไขก็คือ เออ เราก็ไปซื้อเราเตอร์ที่ทำหน้าที่ Access Point มาปล่อยสัญญาณในจุดที่เราเรียกว่าจุดอับสัญญาณนั่นแหละครับ โดยก็เชื่อมต่อเครื่องเราเตอร์ตัวหลัก (เช่นเราเตอร์ที่ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตให้มา) กับเราเตอร์ Access Point กันด้วย Ethernet Cable หรือที่เรียกกันว่าสายอินเตอร์เน็ตหรือสายแลนเนี่ยแหละครับ เพราะว่า หากถ้าให้เราเตอร์คุยกันและโอนข้อมูลกันผ่าน WiFi ก็อาจจะทำให้ประสิทธิภาพที่จะได้มันได้ไม่เต็มนั่นเองครับ ซึ่งขั้นตอนการจิ้มสายก็ต้องจิ้มให้ถูกต้อง และก็ตั้งค่า Access Point ให้ถูกต้องอีกด้วย ซึ่งก็จะทำให้ยังแก้ปัญหาด้านล่างไม่ได้เหมือนเดิมครับ

ปัญหาอุปกรณ์ย้ายที่ แต่ Access Point ยังอันเดิม

เมื่ออุปกรณ์ใดอุปกรณ์หนึ่งเชื่อมกับ Access Point อันใดอันหนึ่งแล้ว มันก็จะเลือกจับแค่ Access Point ตัวนั้นเท่านั้นไม่ยอมเปลี่ยนไปใช้ตัวไหนเลย ทำให้ว่าเมื่ออยู่ไกลตัว Access Point แล้วแต่หากว่ายังอยู่ในรัศมีการให้บริการ มันก็ยังเลือกจับตัวเดิมทำให้สัญญาณที่จะได้รับนั้นก็อ่อน ความเร็วในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตก็จะช้าไปเลย ถ้าไม่เข้าใจ สามารถดูได้ตามรูปด้านล่างครับ

จะเห็นได้ว่าเมื่ออุปกรณ์ย้ายไปแล้ว มันก็ยังเชื่อมต่อกับอันเก่าก่อน จนกว่าจะหาตัวเก่าไม่เจอ แล้วจึงหาและเชื่อมต่อกับตัวใหม่ โดยไม่สนใจว่าความเร็วอินเตอร์เน็ตที่ผู้ใช้งานจะได้จะเร็วมากแค่ไหน และระหว่างเปลี่ยนเราเตอร์นั้นก็จะมีช่วงที่โทรศัพท์นั้นสัญญาณไวไฟหลุดไปเลยอีกด้วย

ปัญหาคลื่นสัญญาณซ้อนทับกัน

และอีกปัญหาหนึ่งก็คือ เมื่อช่องสัญญาณไวไฟมันซ้อนกัน เช่น Access Point #1 ส่งไวไฟด้วยช่อง 1–3 และ Access Point #2 ก็ส่งไวไฟด้วยช่อง 1–3 เช่นเดียวกัน ตามหลักการแล้ว เมื่อมีสัญญาณที่มีการใช้ช่องสัญญาณเดียวกันอยู่จะทำให้สัญญาณมันรบกวนซึ่งกันและกัน ส่งผลทำให้คุณภาพของทั้งสองสัญญาณนั้นด้อยลง พูดง่ายๆ คือมีเลนขับรถอยู่ 3 เลน เมื่อใครเข้าไปใช้งาน ก็จะใช้งานได้อย่างปกตินั่นแหละ แต่พอมีคนเข้าไปใช้อีกคนหนึ่ง มันก็จะเริ่มติดขึ้น เพิ่มเข้าไปอีกคนก็ติดเข้าไปใหญ่ การที่มันรถติดนั่นแหละ นั่นคือความเร็วในการส่งข้อมูลที่มันจะติดๆ ขัดๆ รู้สึกช้านั่นเอง

การติดตั้งที่ไม่ใช่ง่ายๆ

สุดท้ายแล้วนอกจากเพื่อนๆ จะต้องไปซื้อ Access Point อันใหม่แล้ว เพื่อนๆ ก็จะต้องเข้าใจหลักการทางด้านเน็ทเวิร์คอีกด้วย เพราะว่าต้องไปแก้ไขลักษณะการทำงานของเราเตอร์อีกด้วย ถ้าไม่ใช่ช่างของผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตก็คงไม่สามารถเข้าใจหลักการทำงานของเน็ทเวิร์คในบ้านได้อย่างแน่นอน ดังนัันถ้ามีปัญหาก็ต้องแจ้งซ่อมอย่างเดียวเหรอ เสียเวลาแย่เลยครับ

Mesh WiFi คืออะไร ?

อุปกรณ์ต่ออินเตอร์เน็ตทั่วบ้าน — ภาพจาก tplink

Mesh Wifi คือระบบ WiFi ที่จะทำงานร่วมกันเพื่อให้บริการเครื่องอุปกรณ์ของเพื่อนๆ ได้ดีที่สุดที่จะเป็นไปไดั ด้วยการเลือกเราเตอร์และวิธีการให้บริการที่ดีที่สุดให้กับแต่ละเครื่อง ทำให้เราได้ความเร็วอินเตอร์เน็ตที่ดีที่สุดจากตัวเลือกที่มันมี รวมถึงฟีเจอร์ด้านการจัดการเน็ตเวิร์คที่เหมาะสำหรับผู้ใช้งานภายในบ้านที่ไม่รู้เรื่องระบบอินเตอร์เน็ตได้จัดการระบบเน็ตเวิร์คภายในบ้านได้ด้วยตนเอง เพียงแค่เปิด Application เชื่อมต่อเราเตอร์ให้เรียบร้อยก็เสร็จแล้วครับ

ส่วนตัว ผมเองนั้นใช้ TP-Link Deco M5 จำนวน 6 ตัวเพื่อให้บริการไวไฟกับคนในบ้านทั้ง 6 ชั้นอย่างเต็มอิ่มครับ

สนับสนุนโดย

ฟีเจอร์ Mesh WiFi ไม่มีใครเหมือน

One Name. One Password ชื่อเดียว รหัสผ่านเดียวทั้งบ้าน

เพราะว่าเราเอง หากว่าอยากที่จะเลือกเอาเองว่าเราเตอร์ตัวไหน เราก็ไปเชื่อมต่อกับอันนั้นสิ มันก็จะทำให้เรานั้นต้องไปตั้งชื่อไวไฟของเราเตอร์อันนั้นให้มันแตกต่างเพื่อให้เราระบุแล้วก็ไปเลือกอันที่อยู่ใกล้สุดได้นั่นเอง

ส่วนถ้าเรามี mesh wifi แล้ว พอเราจะใช้ เราก็แค่กดเข้าไปที่ชื่อไวไฟซึ่งตั้งเพียงอันเดียวก็พอ และก็รหัสผ่าน และก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว พอเดินไปอยู่ใกล้จุดให้บริการของเราเตอร์ mesh ตัวไหนมากที่สุด มันก็จะเลือกตัวนั้นให้เองเลย

Seamless Roaming ใช้งานแบบไม่มีกระตุก

การ roaming หรือการเดินใช้อุปกรณ์ไปทั่ว หมายความว่า เมื่อเราย้ายอุปกรณ์ไปไหนก็ตาม ตัว mesh network ก็จะทำการเลือกเราเตอร์อันที่แรงที่สุดให้เพื่อนๆ ใช้ ดังนั้นก็จะไม่มีปัญหาเรื่องความเร็วหรือสัญญาณดรอปไปเลย

โดยเราเตอร์ประเภท Mesh Wifi นั้น เราเองก็ไม่ต้องไปทำการโยงสายแลนเพื่อให้มันเชื่อมต่อกันอีกด้วย ซึ่งมันก็จะทำการเลือกเส้นทางและวิธีการส่งสัญญาณไวไฟไปให้เราเตอร์อีกตัวนั้นให้บริการอย่างอัตโนมัติอีกด้วย

Self-Healing Mechanism ซ่อมเส้นทางบริการอัตโนมัติ

อีกปัญหาของการทำงานนั่นคือเมื่อเราเตอร์ตัวใดมีปัญหาไป เช่นอยู่ดีๆ มีคนไปถอดปลั้กเฉย (ตามรูปประกอบด้านล่าง) เราเตอร์ก็จะมีการเปลี่ยนเส้นทางการให้บริการอินเตอร์เน็ตไปอีกเส้นทางนึงเลย ทำให้เราเตอร์ที่ยังทำงานอยู่นั้นให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ติดขัดเหมือนเราเตอร์ทั่วไปอีกด้วย

และหากว่าเราเตอร์ตัวกลางนั้นกลับมาพร้อมให้บริการแล้ว มันก็จะกลับมาใช้เส้นทางเดิม (ที่ดีที่สุด) นั่นเองครับ พร้อมทั้งหากว่าเราไปเพิ่มเราเตอร์ตัวที่ 4 ที่ 5 มันก็จะทำการเชื่อมต่อหากันทันทีผ่านการกดตั้งค่าบนแอพ TP Link Deco ที่แสนง่ายดาย

สนับสนุนโดย

แล้ว Mesh WiFi แพงหรือเปล่า ?

เราเตอร์นั้นมีหลายระดับ ทั้งพื้นที่การให้บริการ, ความเร็วสูงสุด, ฟีเจอร์ที่สามารถเชื่อมกับ Zigbee หรือระบบ IOT ในบ้าน รวมไปถึงการตั้งค่า Quality of Service ที่จะบริการเครื่องที่สำคัญก่อน, หรือการรองรับการให้บริการ Wifi 6 ที่ทำให้ความเร็วการให้บริการอินเตอร์เน็ต (กับอุปกรณ์ที่รองรับ) นั้นไปถึง 3 Gbps เลยทีเดียว

คำจำกัดความรับผิดชอบ
ข้อความที่อยู่บนสตอรี่นี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวต่อเทคโนโลยี Mesh WiFi และ ประเภทเราเตอร์ Mesh Network เท่านั้น และเป็นเพียงการอธิบายโดยไม่ได้แสวงหากำไรหรือทางการใช้งานพาณิชย์อย่างใดทั้งสิ้น

โดยหากว่าเพื่อนๆ ซื้อเราเตอร์ TP Link ซีรีส์ Deco ในบ้าน ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อรุ่นเดียวกันเหมือนผมก็ได้ แต่มันก็จะให้บริการร่วมกันได้เมื่อมันอยู่ซีรีส Deco เหมือนกันครับ วันนี้ผมก็จะมาแนะนำรุ่นเราเตอร์ของ TPLink ให้ดูครับ

  • Deco X60 เราเตอร์รุ่นท๊อป รองรับ Wifi 6 และพื้นที่บ้าน 650 ตรม. [มาใหม่สุดๆ]
  • Deco M9 Plus เราเตอร์รุ่นสูง รองรับการสั่งงานสัญญาณ Zigbee และพื้นที่บ้าน 600 ตรม.
  • Deco M5 เราเตอร์รุ่นค่อนข้างสูง รองรับพื้นที่บ้าน 520 ตรม. [แนะนำ]

จริงๆ แล้วเราเตอร์ตัวเดียวทั้งบ้านก็อาจจะเอาอยู่ แต่หากว่าบ้านนั้นทำด้วยเหล็กหรืออิฐหนาก็อาจจะทำให้สัญญาณนั้นเข้าถึงไม่ได้อย่างเต็มที่และทำให้พื้นที่ที่สามารถได้รับการบริการนั้นเล็กลง ผมก็จะแนะนำให้ซื้อเป็นรุ่นเล็กหลายๆ อันแทนครับ

ลองถามค่ายอินเตอร์เน็ตก่อนไหม?

จะบอกว่าเดี๋ยวนี้ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตก็นำเสนอโปรโมชันเมื่อสมัครอินเตอร์เน็ทแล้วแถมเราเตอร์แบบ Mesh ให้ด้วย แนะนำให้ลองติดต่อสอบถามผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตหรือสามารถซื้อเราเตอร์ mesh มาใช้เองได้เลยก็ได้เช่นเดียวกันครับ


ข้อมูลอ้างอิง
สนับสนุนโดย

Share this post

About the author