DeFi กำลังจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้เงินและการเมืองระหว่างประเทศจริงหรือไม่ DeFi กำลังจะมาทำให้คนที่มีเงินน้อยสามารถมีส่วนร่วมกับการขับเคลื่อนเศรษกิจและร่วมเป็นผู้ลงทุนได้อย่างไร แล้วสินค้าที่ DeFi ในปัจจุบันมีอยู่คืออะไรบ้าง ในสตรีนี้เราจะมาพูดถึง DeFi ว่ามันคืออะไร เปลี่ยนโลกได้อย่างไร
หนึ่งในเทคโนโลยีที่เข้ามาเป็นที่พูดถึงในช่วงไม่กี่ปีนี้ก็มีอย่างมากมาย เปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนด้วยความเสี่ยงที่สูงกับเทคโนโลยีที่ยังเป็นเหมือนเพชรในตมที่จะได้เฉิดฉายอย่าง DeFi
DeFi กำลังเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเราอย่างก้าวกระโดด ด้วยแรงผลักดันจากการเติบโตของโลกอินเตอร์เน็ต การมีธนาคารกลางและรัฐบาลฯ เข้ามาแทรกแซงการทำงานและความหมายของมูลค่าเงินอย่างต่อเนื่อง การใช้เทคโนโลยีอื่นๆ ที่สามารถทำให้ซึ้อขายสินค้า ทรัพย์สิน และความรู้ระหว่างคนที่อยู่คนละซีกโลก
Defi คืออะไร?
Decentralized Finance หรือ DeFi เป็นระบบการเงินรูปแบบใหม่ ที่จะเป็นการตัดตัวกลาง (ซึ่งปัจจุบันก็คือธนาคารและรัฐ) ออกไปจากการทำธุรกรรมทางการเงินทั้งออนไลน์และออฟไลน์ และแทนที่ด้วยระบบที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันและใช้ร่วมกัน ทำให้เรารู้สึกเหมือนมีธนาคารและการทำธุรกรรมเพียงแต่จะอยู่ที่ไหนและเมื่อไหร่ก็ทำได้เหมือนกันหมด การเงินที่ไม่มีศูนย์กลางจะทำให้โลกที่มีพรมแดนประเทศไม่มาขวางกั้นการเงินอีกต่อไป
แต่นั่นก็จะต้องมาพร้อมกับความโปร่งใสในการตรวจสอบข้อมูล การพัฒนาความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง การนำเทคโนโลยีไปต่อยอด การนำไปใช้ในเซคเตอร์ทางธุรกิจอื่นที่มีความเกี่ยวข้องกับเงินและทรัพย์สินและการนำไปใช้งานกับโลกออฟไลน์ ซึ่งนั่นก็ได้กลายเป็นรากฐานของ DeFi ในปัจจุบันนั่นเอง
ข้อดีของ DeFi คืออะไร?
หนึ่งในข้อดีนั่นคือการเปิดโอกาสให้คนที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบทางการเงินจากสาเหตุของความเสี่ยงด้านต่างๆ สามารถเข้ามาใช้บริการโอนเงินได้ เช่นกันกับการเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ปล่อยและกู้เงิน และการนำเงินไปลงทุนผ่านการฝากหรือมีส่วนร่วม ซึ่งก็จะทำให้ผู้ใช้จะได้รับอัตราผลตอบแทนได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยตามที่ควรเป็นนั่นเอง
แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่เราจะมาพูดถึงกันในสตอรีนี้ แต่วันนี้ผมจะมาพูดเกี่ยวกับว่า ภายใน Decentralized Finance นั้นมีผลิตภัณฑ์อะไรบ้าง และอาจจะทำให้เพื่อนๆ เห็นว่าข้อดีและข้อเสียของผลิตภัณฑ์ DeFi ในปัจจุบันนั้นพร้อมนำไปใช้งานจริงแล้วหรือไม่
จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง
จากความสำเร็จของราคา Bitcoin ที่ปัจจุบันไปแตะถึง 61,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ แล้ว แต่รู้หรือไม่ว่ามันก็เคยมีราคาต่ำกว่า 1 ดอลล่าร์ซะด้วยซ้ำ เพราะคนไม่เห็นว่าเหรียญนี้สามารถนำไปซื้อของได้จริง ถ้า ณ เวลานั้นถ้าเพื่อนๆ เอา Bitcoin ไปแลกซื้อพิซซ่าหนึ่งถาดก็คงยังไม่มีคนจะแลกหรอกครับ แต่เพราะว่าคนเห็นว่ามันมีมูลค่า มันมีประโยชน์ กล่าวคือมันสามารถที่จะมาเป็นค่าเงินกลางในโลกอินเตอร์เน็ตได้นั่นเอง
การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (หรือที่เรียกกันว่า Fed) พิมพ์เงินดอลล่าร์สหรัฐฯ เข้าสู่ระบบไม่จำเป็นที่จะต้องใช้หลักประกันนั้นแทบเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งปกติทุกประเทศจะประกันเงินที่ออกมาในระบบด้วยทอง แต่ดอลล่าร์สหรัฐฯ ใช้ความเชื่อใจของคนที่ถือเงินว่า “ใช้สกุลเงิน(ดอลล่าร์) เพราะเห็นว่าดอลล่าร์มีมูลค่า” เช่นกันกับมุมมองที่คนมองว่าทองมีมูลค่านั่นเอง
แต่ Bitcoin เปิดตัวมาด้วยแนวคิดใหม่ นั่นคือการสร้างทรัพย์สิน (ในที่นี้คือค่าเงิน) ที่แตกต่างจากสกุลเงินของแต่ละประเทศ (Fiat Currency) ด้วยการมีระบบเงินเฟ้อในอัตราที่มั่นคงและสกุลเงินมีจำนวนจำกัด บวกกับการใช้วิธีที่จะตรวจสอบการโอนเงินที่ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เซิฟเวอร์ที่เดียวอีกต่อไป นั่นก็คือการให้ทุกคนทำหน้าที่เป็นธนาคารเพื่อตรวจสอบการโอนเงิน หรือที่เรียกกันว่า Blockchain นั่นเอง
จากความสำเร็จของ Bitcoin (ซึ่งนั่นเป็นเรื่องของ 10 ปีที่แล้ว) ที่ล้มลุกคลุกคลานมาแล้วไม่รู้กี่ครั้ง มาจนถึงวันนี้ที่เกิดระบบการซื้อขายสินทรัพย์จับต้องไม่ได้อย่าง NFT (Non-fungible Token) และการทำงานรอบด้านผ่านผลิตภัณฑ์ทางด้านการเงินด้วยการใช้ DApps (Decentralized Apps) รวมไปถึงการมีสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ที่จะทำให้การดูและจัดการเป็นไปในทิศทางเดียวกันเสมอ จะมาทำหน้าที่รับช่วงต่อ กับประชากรโลกที่กำลังเข้าถึงเทคโนโลยีและการสื่อสารแบบไร้พรมแดน
การแข่งขันรุนแรง
การเคลี่อนไหวของจีนในปี 2014 ที่มีทีท่าในความต้องการอยากเป็นหนึ่งในประเทศเจ้าตลาดทางด้านการเงิน ด้วยการพัฒนาหยวนดิจิทัล (Yuan Digital) ที่ตอนนี้ใช้งานแล้วในหลายมณฑลของประเทศจีนและบนแพลตฟอร์มซื้อสินค้าชื่อดังอย่าง JD.com วันนี้เราจึงเห็นการแข่งขันอย่างจริงจังของบริษัทเทคโนโลยีทางการเงินของสหรัฐฯ ที่ต้องการมาคืนบัลลังก์ความเป็นเจ้านวัตกรรมคืนจากจีนอีกครั้ง
ด้วยมุมมองของการเป็นเงินที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการควบคุมสกุลเงินของประเทศ บวกกับอนาคตที่จะทำผ่านร้านค้าออนไลน์ จึงทำให้จีนนั้นได้ตัดสินใจให้ประชากรของหลายมลรัฐและสถาบันการเงินของประเทศจีนใช้งาน Digital Currency Electronic Payment (DCEP) หรือที่เรารู้จักกันในนาม หยวนดิจิทัล (Digital Yuan) นั่นเอง
ในประเทศไทยก็เริ่มมีข่าว ตั้งแต่การเปิดตัวหน้าที่ของกลต. ที่มีหน้าที่ในการจัดการด้านกฏหมายกับสินทรัพย์ดิจิทัล และการเปิดตัวโรทแมพ (Roadmap) ของสกุลเงินไทยดิจิทัลอย่าง “อินทนนท์” เพื่อมาสนับสนุนการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ Financial Tech (FinTech) โดยเริ่มจากการทำงานระหว่างธนาคารที่จะแปลงคลังเงินสำรองในธนาคารกลางมาเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ธนาคารออก (Central Bank Digital Currency: CBDC) และเริ่มเปิดตัวให้แก่ผู้ที่สนใจรายย่อยอีกครั้งในไตรมาสที่ 2 ปี 2022
วันนี้เราก็จะมาดูกันครับว่าเทคโนโลยี Decentralized Finance นั้นจะมีอะไรบ้าง เริ่มต้นจากเรื่องง่ายๆ แต่ก็ไม่ง่ายอย่างการโอนเงินระหว่างบัญชีกันครับ
การโอนเงินผ่าน Blockchain
ระบบแลกเปลี่ยน (Decentralized Exchange) หรือที่เรียกกันว่า DEX นั้นก็คือการโอนเงินทั่วไปนั่นแหละครับ แต่ครั้งนี้เปลี่ยนจากเงินเป็นสกุลเงินดิจิทัล/โทเคน และไม่มีธนาคารเท่านั้นเอง แค่ทำการโอนเหรียญผ่านระบบเน็ตเวิร์คของสกุลเงินนั้นๆ แล้วเงินก็จะไปถึงกระเป๋าเงินของผู้รับเพียงไม่กี่อึดใจ
วิธีนี้ ผู้โอนไม่จำเป็นที่จะต้องยืนยันว่าการโอนเงินนั้นสำเร็จหรือไม่ เพียงแต่ไปดูว่าการโอนเงินนี้ได้รับการยืนยันจากผู้ตรวจสอบ (Validator) และการทำธุรกรรมถูกจัดเก็บเข้าไปยังบล็อก (Block) ข้อมูลบนเน็ตเวิร์คหรือไม่
ประโยชน์ของการเปิดให้มีข้อมูลในการโอน ทำให้เราเองก็สามารถที่จะตรวจสอบข้อมูลของคนอื่นได้เหมือนกัน เป็นการเปิดเผยให้แก่สาธารณะได้รู้ว่าเรานั้นได้รับเงินมาจริงหรือเปล่า หรือว่ามาด้วยการโกงระบบเช่นการปั้มเงินเข้าสู่ระบบด้วยตนเอง บริษัทการเงินอย่าง Paypal และ Visa เองได้เปิดให้คนโอนเงินผ่านแอพ/ระบบตนเองได้แล้ว ก็จะทำให้ผู้ใช้งานนั้นสามารถเข้าถึงการโอนเหรียญ/โทเคนได้ง่ายดายมากขึ้น และรู้สึกว่าเหมาะสำหรับการใช้งานของคนทั่วไป
ตลาดแลกเปลี่ยนไม่มีตัวกลาง (Decentralized Exchange)
ตลาดแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นจากความหลากหลายในประเภทค่าเงินและทรัพย์สิน มีหน้าที่เป็นตัวกลางให้ผู้ขายและลูกค้าทำให้การซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล, โทเคน, และเงินสดผ่านตลาดได้โดยสะดวก หากไม่รู้ว่าเกิดขึ้นมาเพราะอะไร ก็สามารถมองว่ามันเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้เราหาซื้อของได้ง่าย และไม่ต้องกลัวว่าโอนเงินไปแล้วแต่อีกฝ่ายจะไม่ส่งของ
ตลาดการซื้อขายแบบไม่มีตัวกลาง (Decentralized Exchange Market) ทำหน้าที่เหมือนตลาดซื้อ-ขายทั่วไป แต่มีความแตกต่างนั่นก็คือเราจะสามารถเทรดได้ทันทีและค่าทำรายการที่เปลี่ยนไปตามปริมาณความต้องการ
อีกหนึ่งความแตกต่างกับตลาดแลกเปลี่ยนแบบมีตัวกลาง (Centralized Exchange Market) ก็คือ DEX เป็นการแลกเหรียญกับกองทุนสภาพคล่อง (Liquidity Pool) ผ่านมาตรการ (Protocol) และสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ที่จะทำงาน/นำไปใช้อัตโนมัติ เพื่อให้ผู้แลกได้ซื้อเหรียญตามที่ต้องการ ด้วยราคาที่สมเหตุสมผล และผู้ให้แลกก็จะได้เปอร์เซ็นต์จากค่าธรรมเนียมในการขอแลก
ปัจจุบันก็มีบริการ DEX ที่มี Liquidity Pool ตามกลุ่มประเภทเหรียญ (เป็นเหรียญที่ใช้เน็ตเวิร์คเดียวกัน) มากมาย อย่างเช่น Uniswap, Matcha, Dodo ซึ่งแต่ละที่ก็จะมีเรทแลกเปลี่ยนที่ไม่เหมือนกัน ทำให้ต้องเกิดสิ่งที่เรียกว่า Aggregator นั่นเองครับ
ระบบค้นหาตลาดแลกเปลี่ยน (DEX Aggregator)
จากที่เล่าไปเมื่อครู่นี้ หากว่าเราจะพึ่งพากับ Liquidity Pool อันเดียวก็อาจจะทำให้เราได้ราคาเทรดที่ไม่ได้มีราคาถูกที่สุด ดังนั้นก็จะมีเว็บไซต์ (อย่างเช่น 1Inch) ในการหา Liquidity Pool ที่มีราคาที่ถูกที่สุดให้ โดยผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องไปค้นหาร้านค้าอื่นกันเลยทีเดียว
การติดต่อสื่อสารต่างเน็ตเวิร์ค (Cross-chain Network Bridge)
อีกหนึ่งปัญหาของทั้งการแลกเปลี่ยนเหรียญและซื้อขายเหรียญนั่นก็คือค่าธรรมเนียมนั่นเอง ซึ่งในเวลาที่ผมเขียนสตอรีอยู่นี้ การทำธุรกรรมผ่านเน็ตเวิร์ค Ethereum ไปแตะอยู่ที่ 96% ของขีดความสามารถในการโอนเงินแล้ว ทำให้หากใครต้องการโอนเงินผ่านเน็ตเวิร์ค (เช่นเน็ตเวิร์ค ERC-20 ของ Ethereum) จะต้องเสียค่าธรรมเนียมการโอนที่มักจะแพงกว่าค่าของเสียอีก
ทำให้ในตอนนี้มีหลายเจ้าที่นำ Ethereum แล้วมาสร้างเน็ตเวิร์คของตนเอง แต่นั่นก็ต้องเจอปัญหาอีก เพราะว่าเน็ตเวิร์คนั้นไม่ได้สร้างมาเพื่อการคุยระหว่างกันหรือโอนไปมาระหว่างกัน จึงเกิด Polkadot ขึ้นเพื่อเข้ามาเป็นตัวกลาง (Bridges) ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเน็ตเวิร์คเชน (Chain) ด้วยวิธีที่เร็วและเติบโตได้ง่าย
ในอนาคต เราเองก็จะต้องมีเหรียญที่หลากหลายมากกว่านี้อย่างแน่นอน แต่ละประเทศอยากออกเหรียญสกุลเงินของตัวเอง แต่ละบริษัทอยากได้เงินเหมือนขาย Bond แต่ทำบนระบบบล็อคเชน ถ้าหากว่า Ethereum หรือ Bitcoin ไม่สามารถรับหน้าที่ในการโอนระหว่าง หรือ เป็นตัวแทนระหว่างสองเน็ตเวิร์คจะเป็นอย่างไร คำตอบก็คือจะต้องมีตัวกลางในการแลกเปลี่ยนนั่นเองครับ (ซึ่งก็จะฟังเหมือนกับว่าจะกลับไปเป็นระบบ Centralized ไปโดยปริยาย)
การกู้เงินเร่งด่วน (Flash Loans / Lending)
Flash Loans หรือการทำ Leverage หมายถึงการกู้เงินเพื่อนำเงินที่ว่าไปซื้อเหรียญในราคาถูกและขายเหรียญในตอนที่มันราคาแพง หรือการกู้เพื่อนำเหรียญไปขายแล้วซื้อคืน (จำนวนเท่ากับที่กู้มา) ให้ตอนราคาถูก ทำให้ผู้กู้สามารถได้กำไรจากส่วนต่างของราคาที่มากขึ้น และไม่จำเป็นที่จะต้องควักเงินออกจากกระเป๋าของตัวเองทั้งหมด
แล้วหากว่าต้องการที่จะจ่ายเงินต้นพร้อมดอก ดอกเบี้ยเงินกู้ก็จะคิดตามเวลาที่ใช้กู้ไปจริง ไม่ใช่วันที่กู้อีกต่อไป เช่นกู้ไป 135 วินาที ก็จ่ายดอกเบี้ยเพียง 135 วินาทีเท่านั้น ดีใช่ไหมหล่ะ?
แล้วผลลัพธ์คืออะไร คนกู้ก็จะได้เงินส่วนต่างจากการขาย เช่นได้ 5% จากการซื้อขายเร่งด่วน แต่จำนวนที่ได้สิครับ ถ้าใช้เงินตัวเองลงทุนไป 10,000 ก็จะได้เงินมา 500 หรือถ้าไปกู้มา 10,000,000 แล้วได้ 5% เหมือนกัน นั่นก็คือ 500,000 แล้วก็ค่อยเอาเงิน 10,000,000 ไปคืนพร้อมกับดอกเบี้ย 0.01% ก็จะทำให้เราได้กำไรมาสุทธิ เกือบ 500,000 เลยทีเดียวครับ เห็นไหมหล่ะ ว่ามันดีขนาดไหน
ส่วนผู้ให้กู้อย่างมากก็จะเสี่ยงว่าผู้กู้จะไม่มีเงินมาจ่าย แต่ก็ไม่ต้องห่วงเพราะว่าในตลาดที่ให้กู้นั้นก็จะมีระบบการ Liquidate (การบังคับขายทอดตลาด) โดยอัตโนมัติผ่าน Smart Contract หากผู้กู้ไม่มีเงินมาจ่ายนั่นเองครับ ทำให้ความเสี่ยงของผู้ให้กู้นั้นเหลือเพียงว่า “บังคับขายทอดตลาดแล้วยังขาดทุน” นั่นเอง
ผลตอบแทนจากการกู้ยืม (Yield Farming / Liquidity Mining)
ใน DeFi หากใครต้องการสร้างแอพฯ ใหม่แต่ไม่มีเงินหรือต้องการหลักประกันเพื่อให้ลูกค้าเชื่อใจและใช้บริการ จึงเกิด Yield Lending ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องของการหาเงินทุน และให้ผลตอบแทนจากการประกอบกิจการไปเรื่อยๆ ซึ่งก็จะเหมือนกับเรามี Passive Income เข้ามาในบัญชีเราทุกๆ เดือน
วิธีการนั่นก็คือ เราจะต้องนำเหรียญเข้าไปในกองทุน (Pool) และผู้ที่เอาเงินที่ได้รับมานั้นไปสร้างเงินเพิ่มจากเงินตั้งต้นนั้น ส่วนผู้ลงทุนก็เพียงรอรับผลตอบแทนเท่านั้นเลย โดยคำนวณจากเปอร์เซ็นต์ที่มาจากการปันผลต่อราคาเหรียญ ทำให้อัตราปันผลนั้นเปลี่ยนไปทุกวันตามราคาของเหรียญนั้นๆ
แต่ปัญหาก็คือความเสี่ยง เพราะหากว่าเรากำลังไปลงทุนกับบริษัทที่ยังมีขนาดเล็ก หากว่าบริษัทนั้นขาดทุน เราก็อาจจะเสียเงินที่ลงทุนไปได้ แต่หากว่าได้กำไร ก็จะได้เปอร์เซ็นต์สูงจากความเชื่อใจที่ให้กับบริษัทนั่นเองครับ
ระบบจัดการแลกเปลี่ยนออฟไลน์ (Blockchain Oracles)
Oracles หรือผู้ทำนายพยากรณ์ในระบบ Blockchain (ไม่ใช่ดาด้าเบสนะครับ :D) เป็นระบบตัวช่วยภายในเน็ตเวิร์คที่จะทำให้การทำธุรกรรมนอกเน็ตเวิร์ค (Off-chain) นั้นสามารถกลับมาเชื่อมต่อในระบบ (On-chain) ได้อีกครั้งเมื่อต้องการ
Decentralized Oracle จึงเป็นระบบที่มุ่งเน้นกับทฤษฏี “Trustless Blockchain Network” หรือ “เน็ตเวิร์คบล็อคเชนที่ไม่ต้องใช้ความเชื่อใจ” ซึ่งจะทำให้ระบบนั้นโปร่งใสและไม่มีใครแอบมาโกงกันนอกรอบหรือหากินกับเงินทอนอย่างแน่นอน โดยการที่จะได้มาของ Decentralized Oracles นั้นก็จะจำเป็นต้องใช้วิธีและทฤษฏีที่ทั้งสองฝั่งนั้นจะไม่อยากโกงอย่าง Game Theory และ การมีระบบที่ให้คนเข้ามาตรวจสอบความจริงอย่าง Oracles
เป้าหมายของระบบ Oracles
Oracles มีหน้าที่ในการตรวจสอบว่าการโอนที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้จะสำเร็จหรือไม่ ผ่านการตรวจสอบว่าผู้ซื้อนั้นมีเงินตามที่ผู้ขายต้องการหรือไม่นั่นเอง รวมไปถึงการเช็คว่าราคาของเหรียญนี้จะเท่ากับเหรียญที่ผู้ขายต้องการเป็นเท่าไหร่อีกด้วย
ซึ่งการเป็น Oracles แบบ Decentralized นั้นจะใช้ให้ว่าผู้ที่จะมาเป็น Oracles นั้นจะต้องใช้เงินเดิมพัน (Stakes) หากว่าการตรวจสอบ (ทำนาย) นั้นไม่เป็นความจริงและผู้ขายไม่ได้รับเงินเต็มจำนวน ผู้ทำนายก็จะต้องนำเงินมาชดเชยในจุดนี้แทน แต่หากไม่มีอะไรผิดปกติ การโอนครั้งนี้ก็จะต้องเสียค่าธรรมเนียมให้แก่ผู้ทำนายนั่นเอง
การใช้ทฤษฏี Game Theory
ทฤษฎี Game Theory หลักการก็คือ หากว่าใครอีกฝั่งหนึ่งต้องการที่จะโกง อีกฝั่งนึงก็จะโกงเช่นกัน แต่นั่นก็จะทำให้ทั้งสองฝ่ายเสียประโยชน์ทั้งสองฝั่ง ทำให้ตัวเองและคนอื่นเลือกที่จะฟ้องเพื่อให้เสียประโยชน์เท่ากัน ไม่มีใครได้ประโยชน์กันเกินตัว
การใช้ Game Theory นั้นถูกใช้ในทางเศรษศาสตร์มามากมายหลายครั้งแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นการใช้กับบริษัทที่ขายสินค้าประเภทเดียวกัน หากว่าร้านค้าใดร้านค้าหนึ่งตั้งราคาสูงเพื่อเอากำไร อีกฝั่งก็จะลดราคาเพื่อแย่งลูกค้าและทำให้บริษัทที่ตั้งราคาสูงขายสินค้าไม่ออก ทำให้บริษัทที่ขายแพงก็จะต้องยอมลดราคาลงมาเอง
แต่นี่เป็นการใช้งานผ่าน Blockchain และอยู่กันในโหมดออฟไลน์ หากว่าผู้ซื้อโอนเงินไปแล้วผู้ขายไม่ยอมเชื่อมต่อ Blockchain ก็จะทำให้ผู้ขายไม่มีทางรู้เลยว่าผู้ซื้อมีจำนวนเงินตามที่ได้ตกลงแล้วหรือไม่ ทำให้การทำธุรกรรมก็จะสำเร็จอย่างแน่นอนื หรือหากว่าผู้ขายเชื่อใจว่าผู้ซื้อมีเงินจ่ายอย่างแน่นอน ผู้ขายและผู้ซื้อก็จะไม่จำเป็นจะต้องไปหาคนมายืนยัน
และเมื่อไหร่มีฝ่ายหนึ่งเชื่อมต่อกับระบบ Smart Contract ที่ทำกันไว้เมื่อตอนโอนเงินแบบออฟไลน์ก็จะทำการตรวจสอบจำนวนเงิน (จะเป็นเหรียญ/โทเคน ตามที่ผู้ขายต้องการหรือไม่ก็ตาม) และเมื่อผู้ซื้อมีเงินพอที่จะโอน Smart Contract ก็จะโอนเงินผ่านเน็ตเวิร์คให้ทั้งสองฝ่ายนั่นเอง
การกำกับดูแลเน็ตเวิร์ค (On-chain Governance)
อีกหนึ่งปัญหาของเหรียญนั่นก็คือการที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากไม่อยากได้การเปลี่ยนแปลงแต่ผู้พัฒนาต้องการให้เปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดการ Hard Fork หรือการแยกกันอยู่และใครอยากจะเปลี่ยนก็เปลี่ยนไปใช้เน็ตเวิร์คใหม่ ใครไม่อยากเปลี่ยนก็ไม่ต้องเปลี่ยน แล้วก็มาดูเลยว่าอันไหนจะไปรอด/ไม่รอด
แต่ปัญหาของการสร้างเน็ตเวิร์คอันใหม่ก็จะมากับความเสี่ยวอันมหาศาลว่าเน็ตเวิร์คจะไม่เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลายและจบด้วยการที่ไม่มีใครใช้เหรียญนี้อีกต่อไป ในสถานการณ์ตรึงเครียดแบบนี้ก็จะทำให้คนไม่ลืมที่จะช่วยเหลือกันเพื่อหาทางออกร่วมกัน (Consensus) ด้วยวิธีที่เห็นพ้องต้องกันเหมือนระบบประชาธิปไตยและทำงานทันทีเหมือนระบบที่มีผู้มีอำนาจ
หลักการพื้นฐานของ On-chain Governance นั่นคือ หากใครก็ตาม (เช่นผู้พัฒนาเน็ตเวิร์ค/ผู้ตรวจสอบ) ต้องการเปลี่ยนแปลง ก็ให้จำนวนคนและจำนวนเงินที่ลงเดิมพันมาเป็นตัวตัดสินว่าจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน ซึ่งแต่ละเน็ตเวิร์คก็จะมีวิธีการคำนวณเสียงโหวด (จำนวนคนและจำนวนเงิน) ไม่เหมือนกัน และใช้คะแนนเสียงนี้ในการโหวดว่าจะรับหรือไม่รับการเปลี่ยนแปลงนี้
แล้วมันเกี่ยวอะไรกันกับ DeFi
โดยผู้ใช้งานเหรียญก็จะเป็นผู้กำหนดชะตาว่าควรจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน ผ่านการขายเหรียญทิ้ง กว้านซื้อเหรียญ และการตั้งเดิมพัน หากระบบที่ออกแบบมานั้นสมบูรณ์แบบจริง ก็จะทำให้ทั้งนักพัฒนา-ผู้ถือเหรียญ-ผู้ตรวจสอบ มีอำนาจเหนือกว่าคนอื่นอย่างแน่นอน
เกี่ยวข้องอย่างมากใน DeFi เพราะว่าหากว่าไม่มีระบบ Consensus ที่ชัดเจนและอำนาจอยู่กับผู้ถือเหรียญเจ้าใหญ่ ก็จะทำให้คนไม่กล้าซื้อและใช้เหรียญ ทำให้ Network Effect นั้นไม่ได้แสดงผลเลย
และอีกมากมาย
การใช้งานในเชิงการจัดการสินทรัพย์ (Asset Management), การเปลี่ยนทรัพย์สินเป็นดิจิทัล (Asset Tokenization), การคาดการราคา (Predictions Market) และอีกมากมาย ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้โลกของเราทำงานร่วมกันอย่างสันติอีกครั้งหนึ่ง
รายการอ้างอิง
- โครงการอินทนนท์ ก้าวสำคัญของการผลักดันนวัตกรรมสู่โครงสร้างพื้นฐานระบบการเงินไทย (bot.or.th)
- China’s digital yuan: What is it and how does it work? (cnbc.com)
- What Is an Automated Market Maker (AMM)? | Binance Academy
- What Is Decentralized Finance?: A Deep Dive by The Defiant | CoinMarketCap
- How China’s Digital Yuan Could Go Global – CoinDesk
- What Is Uniswap? A Complete Beginner’s Guide – CoinDesk
- Uniswap | Introducing Uniswap V3
- Technology | Polkadot
- What is a blockchain oracle? What is the oracle problem? Why can’t blockchains make API calls? This is everything you need to know about off-chain dat | Better Programming
- Blockchain Oracles for Hybrid Smart Contracts | Chainlink