สำหรับใครที่เพิ่งซื้อ iPhone หรือมี iPhone กันอยู่น่าจะมีปัญหาการใช้งาน หรือไม่ก็ทำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นในสตอรีนี้เราก็จะมาแนะนำแอพฯ เอาไว้ติด iPhone เพื่อเพิ่ม Productivity และสร้างความสะดวกสะบายในการใช้ชีวิตประจำวันกันครับ

แอพแนะนำ | ภาพประกอบ : Apple

แอพฯ ที่เรากำลังมองหา

ภายใน App Store นั้นมีแอพให้เลือกใช้อยู่มากมาย แต่เพื่อน ๆ จะรู้ได้อย่างไรว่าแต่ละแอพนั้นทำงานอย่างไรและจะเหมาะหรือไม่ที่จะย้ายไปใช้ ก็ต้องบอกไว้ก่อนนะครับว่าสตอรีนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลล้วน ๆ เพราะว่าผมเองนั้นได้มีประสบการใช้งานแอพที่ผมกำลังจะแนะนำมาอย่างตลอดและมันตอบโจทย์ทั้งหมดที่ผมมี ดังนี้ครับ

  1. พึ่งพาได้
  2. ทำงานร่วมกับแอพอื่นได้เป็นอย่างน้อย 2 บริการ
  3. สามารถให้คำตอบ / ทำงาน ได้อย่างรวดเร็ว
  4. ข้อมูลที่ได้หลากหลาย ไม่เอนเอียง เปิดโลกทัศน์
  5. ทำงานง่าย ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และทำงานยาก ๆ ได้ไม่ยากเท่าที่ควร

แม้ว่ามันจะดูเรื่องเยอะไปหน่อย แต่ก็ต้องเข้าใจนิดหนึ่งนะครับว่าผมไม่ได้มีเวลา และก็ไม่อยากใช้เวลาทั้งหมดของวัน หมดไปกับบน iPhone เพราะบางครั้งเราเองก็จำเป็นเพียงแค่ดูอย่างคร่าว ๆ เท่านั้น ไม่ได้ต้องลงรายละเอียดมากแต่สามารถเชื่อใจว่าแอพนั้นจะทำงานตามที่เราต้องการได้ถูกต้อง

ดังนั้นเราก็จะมาเริ่มต้นกันเลยครับ สำหรับ 10 แอพ iPhone ต้องมีแห่งปี 2021

คำจำกัดความรับผิดชอบ
ทางเรา ByteSide ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ได้รับผลประโยชน์จากนักพัฒนา การรีวิวแอพฯ ทั้งหมดในสตอรีนี้เป็นประสบการณ์ด้านการใช้งานจริงของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว

TradingView

สำหรับนักเทรดสาย Technical / Day Trade แล้ว ชื่อนี้อาจจะเป็นเหมือนเครื่องมือหลักสำหรับคุณเลย แต่สำหรับผมแล้ว มันก็เป็นแอพที่น่าสนใจที่สุดสำหรับคนที่มีการนำเอาเงินไปลงทุน ทั้งสินทรัพย์ดิจิทัล, หุ้นทั่วโลก, หุ้นในประเทศ, ราคาทอง, ราคาน้ำมันดิบ, Forex และอื่น ๆ อีกมากมายให้เอาไปใช้กัน

อย่างที่น่าสนใจและทำให้ผมติดใจแอพนี้ เพราะว่าเพื่อน ๆ สามารถตั้ง Watchlist ในหน้าแรกให้แสดงแต่ข้อมูลที่เรากำลังตั้งความสนใจ และเพื่อน ๆ สามารถเข้าไปดูกราฟและข้อมูลที่จำเป็นได้อย่างรวดเร็วภายในหน้า Watchlist อีกด้วย และยังรวมไปถึงฟีเจอร์ขั้นโปรฯ อย่างการสร้างกราฟเพื่อวิเคราห์ข้อมูลเชิงลึกผ่านใน iPhone หรือผ่าน Desktop ก็สามารถดูได้เช่นเดียวกัน

แม้ว่าภายในแอพยังไม่สามารถเทรดหรือเชื่อมต่อกับโบรกเกอร์ในประเทศไทยได้ แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้เหมือนกันครับว่าวันหนึ่งจะมีโบรกเกอร์ในประเทศฯ ที่ให้เราเทรดผ่านหน้าแอพได้เลย และฟีเจอร์อีกมากมายที่เรายังไม่ได้เขียนเอาไว้ในสตอรีนี้

TradingView เป็นบริการฟรี แต่หากว่าเพื่อน ๆ สมัครสมาชิก “Pro” ก็จะได้รับฟีเจอร์เพิ่มเติมอย่าง Watchlist จำนวนไม่จำกัด, ไม่มีโฆษณา, การเปิดชาร์ทหลายอันพร้อมกัน, ฟีเจอร์การแจ้งเตือนราคาขึ้นลง และเพิ่มโควต้าการสร้างตัวชี้วัด (Indicators) เพิ่ม โดยเพื่อน ๆ สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดด้านฟีเจอร์ทั้งหมดพร้อมกับสมัครบัญชีผู้ใช้งานได้ผ่านลิงก์ https://www.tradingview.com/gopro/?share_your_love=sagelga เพื่อรับเครดิตมูลค่า $30 เมื่อสมัครบริการเป็นแบบ Pro เป็นครั้งแรก

Reddit

Social Media สำหรับโลกอินเตอร์เน็ตชื่อดังอย่าง Reddit นั้นก็เป็นหนึ่งในแอพที่ควรมีสำหรับผมเลย เพราะเราสามารถติดตาม Subreddit หรือหัวข้อของแต่ละคอนเท้นท์ที่มีผู้ใช้งานอยู่ทั่วโลก ข่าวภายใน Reddit นั้นก็ถือว่าใหม่มากและเพื่อน ๆ ไม่จำเป็นจะต้องไปนั่งหาคอนเท้นท์มาเอง เพราะคนบนโลกอินเตอร์เน็ตนั้นจะเป็นผู้เลือกคอนเท้นท์ออกมาแสดงให้เพื่อน ๆ เห็นผ่าน Subreddit r/news ทำให้ข้อมูลที่เพื่อน ๆ จะเห็นนั้นไม่เอนเอียงไปฝักไฝ่ฝ่ายใดเป็นพิเศษ และนั่นแหละครับคือความพิเศษที่เหนือกว่า Facebook ในเรื่องของเนื้อหา

ส่วนตัวผมเองก็ใช้ Reddit มาหลายแอพแล้ว แต่ก็ยังติดใจในเรื่องของฟีเจอร์การใช้งานอย่างในแท็บ News หรืออินเตอร์เฟสที่ดูน่าใช้งานกว่าแอพ Reddit บุคคลที่สามอย่างเช่น Apollo มากอยู่หล่ะครับ ส่วนฟีเจอร์จะมีอะไรบ้าง ก็อาจจะต้องมาเล่าให้ฟังกันเป็นสตอรีอื่นแล้วหล่ะครับ

ดังนั้นหากใครไม่ติดเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษ ผมก็แนะนำอย่างสูงครับว่าให้มาติดตามข่าวสารผ่านพวก Reddit และ Twitter แทน Facebook กันบ้างจะได้ไม่พลาดคอนเท้นท์ใหม่ ๆ ที่มีให้เลือกมากมาย พร้อมกับคอนเท้นท์ที่ผลิตโดยผู้ใช้งานจำนวนมากที่คอยสับเปลี่ยนมาให้เพื่อน ๆ เข้าไปอ่านไปชมกันอย่างจุใจ

แอพ Reddit สามารถดาวน์โหลดได้ฟรี และใช้ได้ทุกระบบปฏิบัติการ ทั้ง iOS, iPadOS, macOS, Windows, Android และผ่านเว็บไซต์ https://www.reddit.com/

Spark

เคยเจอปัญหาว่าต้องใช้บัญชีอีเมล์หลาย ๆ อันแล้วต้องมา Sign In ให้ทั้งหมดทุกครั้งที่เพื่อน ๆ อยากจะเปลี่ยนเครื่องหรือเปล่าครับ ก่อนที่ผมจะรู้จัก Spark ผมมีปัญหานี้หนักมากเพราะว่าผมมีอีเมล์หลายอันจริงทั้งเอาไปสมัครแอคหลุม เอาไปเป็นบัญชีสำรอง ทำให้ผมต้องมานั่ง Log-in แต่ละอีเมล์ถ้าอยากจะดูว่ามีใครส่งอีเมล์มาหาผมบ้าง ส่วนเพื่อน ๆ ก็คงจะต้องการดูอีเมล์ทำงาน ร่วมกับอีเมล์ส่วนตัว แต่อยากให้มันอยู่ภายในแอพเดียวกัน และ Refresh ครั้งเดียวแล้วโผล่มาทั้งหมด

วันนี้ปัญหาของผมก็หมดไป เพราะว่าเรามีแอพอย่าง Spark ที่เพื่อน ๆ สามารถล็อคอินด้วยบัญชีเดียว (บัญชีผู้ใช้งาน Spark) แล้วก็จะสามารถอ่านอีเมล์ทั้งหมดที่เพื่อน ๆ ได้เพิ่มไป ซึ่งผมเองก็ได้เพิ่มไปทั้งหมด 7 บัญชีถ้วนครับ

ส่วนฟีเจอร์นั้นเทียบเท่ากับแอพอีเมล์ทั่วไปเลย เช่น Focused Mailbox (หรือในแอพจะเรียกว่า Smart Mailbox) ที่จะแจ้งเตือนให้เพื่อน ๆ อ่านอีเมล์ที่ไม่สำคัญเพียงสัปดาห์ละครั้งเท่านั้น (แทนที่จะเป็นทันที) ทำให้เพื่อน ๆ ก็จะหมดปัญหาเรื่องของอีเมล์ไปได้ระดับหนึ่ง และเพื่อน ๆ ก็ยังสามารถเพิ่มบริการอย่าง Dropbox, OneDrive, Google Drive และอิ่น ๆ เพื่อเก็บไฟล์แนบได้จากภายในแอพเลย

Spark ตอนนี้รองรับให้เพื่อน ๆ ลงชื่อเข้าใข้ได้ด้วยบัญชี Google (Gmail), Microsoft (Outlook/Hotmail/Office365), iCloud, Yahoo, Exchange และระบบการล็อคอินอีเมล์ประเภทอื่น

โดยแอพ Spark นั้นเป็นบริการฟรีและรองรับการสมัครสมาชิกเพื่อปลดล็อคฟีเจอร์การทำงานร่วมกัน อย่าง Shared Email Address เป็นต้น เพื่อน ๆ สามารถดาวน์โหลด Spark ได้ใน iPhone, iPad, MacOS และ Android ได้ที่จากเว็บไซต์ https://sparkmailapp.com/

Telegram

หลาย ๆ คนน่าจะเคยเจอปัญหาของแอพแชทสีเขียวชื่อดังอันหนึ่ง ที่ทั้งทำงานช้า เต็มไปด้วยโฆษณาและข้อความที่ปิดการแจ้งเตือนไม่ได้ รูปภาพที่เปิดนั้นลบไม่ได้แล้วต้องกินพื้นที่บนโทรศัพท์ สิ่งเหล่านี้จะหมดไปครับเพราะว่าเรามีแอพมาแนะนำ นั่นก็คือแอพ Telegram แอพแชทที่มีที่จัดเก็บคลาวด์อย่างเต็มอิ่มแชทไม่หายอย่างแน่นอน

Telegram ออกแบบมาเพื่อความเป็นส่วนตัวพร้อมกับฟีเจอร์ครบครันที่เพื่อน ๆ กำลังมองหาอยู่เมื่อต้องการใช้แอพแชทอย่างเช่นการโทรคุยด้วยเสียง การทำ Video Conference และสามารถอัดการสนทนาและแชร์หน้าจอได้อีกด้วย รวมไปถึงสติกเกอร์คุณภาพสูงที่สามารถหาใช้กันได้อย่างฟรี ๆ เลยทีเดียว ทำให้การย้ายมาใช้ Telegram น่าจะไม่ยากเลยหล่ะครับ

ที่กล่าวไปว่าแชทจะไม่หาย มันก็จะไม่หายจริง ๆ แหละครับ แม้ว่าจะย้ายเครื่องมาแล้วก็ยังคุยกับเพื่อนได้ต่ออย่างลื่นไหลเลย พร้อมกับการลบแชทในเครื่องชั่วคราว และทำให้ประหยัดพื้นที่จัดเก็บในเครื่องอุปกรณ์ โดยแชท ไฟล์ รูป วิดีโอทั้งหมดก็จะถูกเก็บเอาไว้ใน Data Center ของ Telegram เอาไว้ตลอดกาลเลยหล่ะ ผมเองที่เริ่มใช้แอพตั้งแต่ปี 2016 ในตอนนี้ก็ยังมีแชทในช่วงเวลานั้นอยู่เลยหล่ะครับ

Telegram เป็นแอพที่สามารถใช้ได้ฟรีและใช้ฟรีตลอดกาล ไม่มีเงื่อนไขหรือต้องแลกด้วยความเป็นส่วนตัวใด ๆ เหมือน Facebook Messenger และ Whatsapp เลย เพื่อน ๆ สามารถหาดาวน์โหลดแอพ Telegram ได้จากลิงก์นี้เลยครับ https://telegram.org/

Notion

ใครมีไอเดียอะไรก็สามารถมาแปะเอาไว้ได้กับแอพ Notion ที่เต็มไปด้วยฟีเจอร์การใช้งานที่ออกแบบมาเพื่อการจดโน้ตทั้งงานทั้งไอเดีย แม้ว่าหลาย ๆ แอพนั้นจะสามารถจดโน้ดได้เหมือนกัน (เช่น Evernote, Apple Notes) แต่ฟีเจอร์ที่แพ็กมากับ Notion นั้นไม่มีใครเทียบเท่าได้เลยครับ

1Password

รหัสผ่านนั้นสำคัญมากครับสำหรับชีวิตดิจิทัล ที่เต็มไปด้วยการโจรกรรมข้อมูลด้วยการสุ่มหรือขโมยรหัสผ่าน ดังนั้นวิธีการแก้ไขนั่นก็คือการตั้งรหัสผ่านสำหรับแต่ละบริการ แต่นั่นก็สร้างปัญหาว่าเรานั้นจะจำรหัสผ่านไม่ได้ แล้วจะทำอย่างไรกันดีหล่ะ? วันนี้เราก็เลยเอาแอพจดรหัสผ่านพร้อมเติมรหัสผ่านอัตโนมัติอย่าง 1Password มาแนะนำให้เพื่อน ๆ กันครับ

วิธีการใช้งานนั้นง่ายนิดเดียว เพียงเพื่อน ๆ จดรหัสผ่านภายในแอพฯ เมื่อเราต้องการจะใช้รหัสผ่านในหน้าเข้าสู่ระบบก็ให้ทำการกดเลือก 1Password บนคีย์บอร์ดเพื่อให้แอพนั้นทำการเติมรหัสผ่านในช่องได้อย่างอัตโนมัติ เพื่อน ๆ จะได้ไม่ต้องมานั่งจำรหัสผ่าน และยังรวมไปถึงการเติมรหัส 2 Factor Authentication ที่ในแอพนี้ก็จะเติมให้อย่างอัตโนมัติอีกด้วย

1Password เมื่อเทียบกับแอพจดรหัสผ่านอื่นแล้ว (อย่างเช่น LastPass) นั้นก็มีการทำงานที่คล้าย ๆ กัน แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปนั่นก็คือ Secret Password ที่เป็นรหัสลับในการเข้าบัญชีครั้งแรกที่ยาว 34 ตัวอักษร และรหัสผ่านหลัก (Master Password) ที่เป็นรหัสผ่านที่ต้องใช้ในการปลดล็อกแอพ 1Password ทำให้แอพนั้นสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตและยังสามารถป้องกันการขโมยบัญชี 1Password เพราะผู้ที่จะเข้ามาโจมตีนั้นต้องรู้ว่าเราใช้อีเมล์ รหัสผ่านหลัก รหัสผ่านลับว่าเป็นอะไร

พร้อมกับการทำงานแบบคลาวด์ด้วยความปลอดภัยในระดับสูงสุด AES-256 bit, ฟีเจอร์เพื่อป้องกันเว็บไซต์ปลอม (Phishing Attack), การป้องกันการดูคีย์ (Keylogger) และการแจ้งเตือนหากเว็บไซต์ที่เรามีบัญชีอยู่มีประวัติการโดนแฮคหรือไม่อีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการป้องกันในระดับดีไซน์ จึงมั่นใจได้ว่ารหัสผ่านที่เพื่อน ๆ เก็บนั้นจะเป็นของคุณและคุณเท่านั้น

อีกทั้งเพื่อน ๆ สามารถที่จะแชร์รหัสผ่านให้กับผู้อื่นได้อีกด้วย ทำให้คนที่นำเอารหัสผ่านของเราไปนั้นสามารถเอาไปใช้ได้กับบริการที่เรากำหนดเอาไว้ได้เช่นกัน ส่วนผมที่ไม่มีคนเอาไปใช้ฟีเจอร์นี้ด้วยก็อาจจะพูดอะไรไม่ได้มาก แต่หากใครลองใช้งานฟีเจอร์นี้แล้วก็มารีวิวกันหน่อยนะ

1Password เป็นบริการรายเดือนพร้อมกับตัวเลือกการซื้อรายปี โดยเริ่มต้นด้วย $2.99 ต่อเดือน (ด้วยเงื่อนไขรายปี) สำหรับการใช้งานคนเดียว และ $3.99 ต่อเดือน (ด้วยเงื่อนไขรายปี) สำหรับการใช้งานครอบครัว 5 คน และสามารถใช้บน iPhone, iPad, PC, Android, macOS ได้พร้อมกันไม่จำกัดเครื่องอีกด้วย ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับราคาและฟีเจอร์ทั้งหมดก็สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ https://1password.com/

Highlighted

ผมเป็นหนึ่งคนที่อ่านหนังสือภาษาอังกฤษ และมันมักจะเต็มไปด้วยข้อความหรือประโยคที่เราอยากที่จะเก็บเอาไว้ แอพ Highlighted นั้นจะทำให้เพื่อน ๆ สามารถเก็บพวกประโยคเหล่านั้นด้วยการสแกนตัวอักษร และแอพก็จะทำการเติมข้อมูลของหนังสือ (อย่างเช่นหน้าหนังสือ) ให้เพื่อน ๆ โดยอัตโนมัติอีกด้วย

วิธีการสแกนตัวอักษรจากหนังสือก็ไม่ยากเลย เพียงเข้าไปยังหน้ากล้องภายในแอพและกดถ่ายภาพ เราก็จะเห็นตัวเลือกว่าเราต้องการจะเพิ่มข้อความไหนบ้างเพื่อมาเป็น Highlight ของเรา เมื่อทำเสร็จแล้ว ประโยคที่เราสแกนก็จะไปอยู่บนแอพให้ทันที เพื่อน ๆ สามารถเลือกที่จะเพิ่มข้อความให้กับประโยค พร้อมกับระบุชื่อหนังสือ, ติดแท็ก, และระบุหน้าภายในหนังสือได้อีกด้วย การจัด Highlight นั้นก็จะทำให้เพื่อน ๆ ค้นหาข้อความที่เราจดเอาไว้ได้ง่ายขึ้น ดังนั้นก็แนะนำเป็นอย่างสูงเลยหล่ะครับที่เราควรจะเก็บข้อความให้มีระเบียบเรียบร้อย

การแชร์สิ่งที่เราสแกนนั้นก็ไม่ยากเลย เพียงแค่กดแชร์เท่านั้นก็เสร็จเรียบร้อยแล้วหล่ะครับ และภายในแอพก็จะมีให้เลือกอีกว่าจะแชร์เป็นทั้งเล่มหรือแค่ประโยคที่เราเลือกเอาไว้ หากแชร์ทั้งเล่ม เพื่อน ๆ ก็จะได้รับไฟล์ PDF ที่เต็มไปด้วยข้อความและสิ่งที่เราจดเอาไว้ แต่อย่าลืมนะครับว่าการแชร์เนื้อหาภายในหนังสือนั้นอาจผิดกฏหมายลิขสิทธิ์หนังสือได้ ดังนั้นอย่าลืมที่จะให้เครดิตและใช้งานข้อความตามที่ผู้ถือสิทธิ์อนุญาตด้วยหล่ะ

Highlighted สามารถดาวน์โหลดฟรีได้แล้ว ไม่เสียค่ารายเดือนซักบาท เพื่อน ๆ สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับฟีเจอร์ทั้งหมดในแอพได้ที่เว็บไซต์ https://highlighted.app/

Documents

สำหรับเพื่อน ๆ ที่ยังใช้แอพติดเครื่องอย่าง Files ของ Apple ก็คงจะเจอปัญหาการทำงานหลาย ๆ อย่าง เช่นการเปิดอ่านไฟล์หรือการเชื่อมต่อกับแอพจัดเก็บไฟล์อื่น ผมเองก็มีปัญหาเช่นกันและเป็นหนักมากด้วยเพราะผมก็มีใช้ iPad เป็นบางคราว ผมจึงลองและติดใจแอพอย่าง Documents ที่จะทำให้การจัดการไฟล์และฟีเจอร์ที่มีมากกว่าแอพ Files ทำให้ผมติดใจแอพ Documents มาถึงจุดนี้

Documents รองรับการเชื่อมต่อกับ Dropbox, Google Drive, Box, OneDrive, WebDAV Server, FTP Server, SFTP Server, SMB Server, SharePoint, และ Yandex ที่เพื่อน ๆ สามารถลงชื่อเข้าใช้และใช้งานไฟล์ได้จากแอพ Documents ได้เลย พร้อมฟีเจอร์การแก้ไขไฟล์อย่าง Text Editor และ PDF Editor ที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมือนเพื่อน ๆ โหลดแอพแก้ไขไฟล์ PDF มาเลยหล่ะครับ รวมไปถึงการจัดการไฟล์และโฟลเดอร์แบบ Drag and Drop ที่น่าจะคุ้นเคยกัน พร้อมกับการดูข้อมูล Metadata อีกมากมาย

อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่น่าสนใจก็คือการเปิด WebDAV Server ที่จะทำให้เพื่อน ๆ โอนย้ายไฟล์จากในแอพ Documents ออกหรือเข้า PC/Mac ผ่านในหน้าเว็บเบราว์เซอร์อย่างง่ายดาย เพียงแค่เชื่อมต่อกับ WiFi เดียวกันก็สามารถโอนถ่ายไฟล์ได้แล้ว

หนึ่งในสิ่งที่ทำให้ผมติดใจก็คือการรองรับฟีเจอร์ Native ของ iOS ที่รวดเร็วมาก อย่างเช่นการรองรับ Widgets และการออกแบบแอพที่คล้ายกับแอพบนแพลตฟอร์ม Apple จึงทำให้คนที่ใช้อุปกรณ์ Apple อยู่เป็นประจำอยู่แล้วก็ไม่ยากเลยครับที่จะย้ายมาใช้แอพ Documents

Documents เป็นแอพใช้ฟรีซึ่งรวมไปถึงการเชื่อมต่อกับแอพฯ จัดเก็บไฟล์ภายนอกและการดูไฟล์เบื้องต้น แต่หากว่าเพื่อน ๆ ต้องการฟีเจอร์ขั้นสูง อย่างเช่นการแก้ไขตัวอักษรใน PDF, การแปลงไฟล์ PDF เป็นสกุลอื่น และยังมาพร้อมกับบริการ VPN เพียงสมัครสมาชิกรายเดือนเพื่อใช้งานฟีเจอร์ทั้งหมด เพื่อน ๆ สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับแอพได้ที่ https://readdle.com/documents

Feedly

หลาย ๆ คนน่าจะรู้จักแอพอย่าง Google News หรือพวก Apple News ที่เป็นแอพที่เอาไว้สำหรับอ่านข่าว แต่อย่างหนึ่งที่แอพพวกนั้นไม่มีนั่นก็คือปํญหาการรองรับครับ เพราะว่าแอพเหล่านั้นจำเป็นต้องให้เราไป Subscribe สำนักข่าวที่เราสนใจ แต่เพื่อน ๆ จะต้องสนใจทำไมหล่ะครับเพราะว่าเรามีแอพอย่าง Feedly แล้ว

Feedly เป็นแอพอ่านข่าวและอื่น ๆ ที่สามารถดึงตัวอักษรภายในเว็บไซต์ให้ผู้ใช้งานได้อ่านอย่างง่ายดาย เพียงกรอก URL เว็บไซต์ของสำนักข่าว (จะลองกับเว็บไซต์ของเราก็ได้นะ) เพื่อน ๆ ก็จะเห็นโพสท์ล่าสุดผ่านในแอพได้แล้ว พร้อมทั้งเรายังสามารถปรับ Theme และ Font ตามใจชอบได้อีกด้วย หากใครใช้ RSS Reader อยู่แล้วน่าจะชอบแอพนี้อยู่ไม่น้อยเลยหล่ะครับ

แต่ติดนิดหน่อยที่ว่าแอพฯ ดูเหมือนจะไม่สนับสนุนเว็บไซต์ซะเท่าไหร่ เพราะว่ามันจะข้ามโฆษณาภายในหน้าเว็บให้เลย ทำให้ผู้ผลิตคอนเท้นท์หมดสิทธิ์ในการสร้างรายได้จากการอ่านของคุณ

แต่ฟีเจอร์ภายในแอพก็ยังมีอีกมากมาย อย่างเช่นหน้า Discover ที่เพื่อน ๆ สามารถหาคอนเท้นท์ใหม่ตามประเภทเว็บไซต์หรือการทำ Bookmark ให้ง่ายต่อการเอามาอ่านอีกครั้ง

Whoscall

เคยหรือไม่ครับที่มีใครไม่รู้โทรมาหาคุณระหว่างวัน ผมเองนี่เจอบ่อยมากและส่วนใหญ่ก็จะเป็นขนส่งโทรมายืนยันการรับของ แล้วผมรู้ได้อย่างไรหล่ะ? นั่นก็เพราะว่าผมใช้แอพฯ ระบุเบอร์โทรศัพท์อย่าง Whoscall นั่นเองครับ เพื่อน ๆ จะได้ใช้มันในการป้องกันตัวอย่างเช่นเบอร์โทรมาก่อกวน หรือโทรมาขายประกัน/ขายของ ในแอพนี้ก็จะแสดงข้อมูลของเบอร์ที่โทรหาเราผ่านในหน้าการรับสายให้เราโดยอัตโนมัติเลยหล่ะครับ

เพียงแค่โหลดแอพฯ เอาไว้ในเครื่อง ตั้งค่า “Caller ID” ตามขั้นตอนการติดตั้งแอพ แล้วก็กดดาวน์โหลดฐานข้อมูลเข้ามายังโทรศัพท์ก็เรียบร้อยแล้วหล่ะครับ ครั้งต่อไปที่มีใครโทรหาเพื่อน ๆ แอพนี้ก็จะทำการเขียนเอาไว้ว่าใครเคยอธิบายเบอร์นี้ไว้ว่าอะไร เช่น “ส่งของ” หรือ “โทรมาแล้วไม่มีเสียง” เป็นต้น ทำให้เราสามารถที่จะปฏิเสธสายก่อนที่เราจะรับได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

และภายในแอพก็ยังมีการแสดงข้อมูลเพิ่มเติมอย่างเช่นประวัติการโทรระหว่างคุณ พร้อมทั้งค่ายมือถือที่เป็นเจ้าของเบอร์อีกด้วย และหากว่าใครอยากที่จะรายงานเบอร์โทรศัพท์เพื่อไม่ให้คนอื่นโดนเหมือนเราก็สามารถกด “รายงาน” เพื่อเป็นการรายงานเข้าไปยังแอพฯ และเป็นการเพิ่มคุณภาพของการระบุเบอร์โทรศัพท์ให้กับผู้ใช้อื่นอีกด้วย

Whoscall นั้นเปิดให้ดาวน์โหลดฟรี และยังรองรับการปิดโฆษณา การอัพเดทฐานข้อมูลเบอร์โทรศัพท์อัตโนมัติในการสมัครสมาชิกรายเดือนอีกด้วย เพื่อน ๆ สามารถดาวน์โหลดแอพฯ ได้ที่ https://whoscall.com/

โฆษณา

Share this post

About the author